การสร้างกุศลจริยาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการตื่นรู้ตามแนวพระพุทธศาสนามหายาน

การสร้างกุศลจริยาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการตื่นรู้ตามแนวพระพุทธศาสนามหายาน
Charity building for the development of a society of awakening according to Mahayana Buddhism.


นายภูริทัต ศรีอร่าม

บทคัดย่อ
บทความวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการสร้างกุศลจริยาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการตื่นรู้ตามแนวคัมภีร์มหาสุขาวดีวยูหสูตร, เพื่อวิเคราะห์การสร้างกุศลจริยาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการตื่นรู้ตามแนวพระพุทธศาสนามหายาน โดยมีขอบเขตในการศึกษาด้วยเอกสารปฐมภูมิจากพระไตรปิฎกและข้อมูลทุติยภูมิจากเอกสารอื่นๆ
ผลการศึกษาพบว่า นิกายสุขาวดี (Pure Land) หรือนิกายชิง-ถู่ (Ching T’u) ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันลงมาโดยผ่านทางอาจารย์ฝ่ายมหายานชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงคือ นาคารชุน (Nagajuna) และวสุพันธุ (Vasubandh) พระสูตรที่สำคัญของพุทธศาสนานิกาย ชิง-ถู่ ได้แก่ "สุขาวดีวยูหสูตร" (Sukhavativyuha Sutra) ซึ่งเป็นหนึ่งในสูตรสําคัญของนิกายมหายานสํานักสุขาวดี และเป็นหนึ่งใน 5 คัมภีร์หลักของสํานักนี้ ที่ภายในกล่าวถึงบุพชาติของพระอมิตาภอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า (อีกพระนามคือ อมิตายุสะ) เมื่อเสวยพระชาติเป็นภิกษุชื่อธรรมกรแล้วได้ประกาศปณิธานที่ยิงใหญ่เพื่อโปรดสรรพสัตว์ไว้ 48 ประการ รายละเอียดของปณิธานเหล่านี้มีความสำคัญต่อสำนักสุขาวดีมาก และเป็นที่มาของศรัทธาในหมู่ชนทุกยุคทุกสมัย, พุทธศาสนานิกายสุขาวดีมีคติความเชื่อคล้ายกับศาสนาที่เชื่อในเรื่องพระเจ้า พระพุทธเจ้าอมิตาภะ (Amitabha) ทำหน้าที่คล้ายกับพระผู้เป็นเจ้าที่คอยสอดส่องดูแลโลก และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับความทุกข์ยากทั้งหลาย พระองค์จะทรงนำผู้ที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างแท้จริงต่อพระองค์ไปสู่ดินแดนแห่งความสุขอันแท้จริงและนิรันดรซึ่งเรียกกันว่า "สุขาวดี" (Sukhavati) สิ่งจำเป็นเพื่อให้มีความเชื่อมั่นศรัทธาและอุทิศชีวิตต่อพระพุทธจ้าอมิตาภะ, ลักษณะคำสอนใช้หลักศรัทธา มีการตีความในธรรรมาธิษฐานว่า พระพุทธเจ้าอมิตาภะเป็นธรรมชาติของความเป็นพุทธะ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เป็นความเมตตากรุณาและพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์เป็นสติปัญญา ซึ่งมีอยู่แล้วในตัวคนทุกคน ส่วนสุขาวดีหมายถึงสภาพของความสิ้นทุกข์, ตามที่นิกายสุขาวดีมีหลักแห่งกุศลจริยามีความกตัญญูเป็นต้น มีศีล ศรัทธาในพระรัตนตรัย ปัญญาจากการเรียนรู้พระสูตรและความมุ่งมั่นในกุศลทำจิตให้ผ่องใสในวาระสุดท้ายเพื่อไปเกิดในสุขาวดีพุทธเกษตรตามทัศนะแห่งนิกายสุขาวดี ทำให้ได้แนวทางการสร้างกุศลจริยาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการตื่นรู้ ดังนี้ 1) มีความกตัญญูเลี้ยงดูผู้มีพระคุณและมีจิตใจเมตตากรุณาต่อโลก 2) รักษาศีลห้า ศีลอุโบสถและกุศลกรรมบถ 10 3) ศรัทธา ในพระรัตนตรัยและเชื่อในกฎแห่งกรรม 4) บำเพ็ญบารมี 6 ตามแนวทางของพระโพธิสัตว์ 5) ศึกษาเรียนรู้ แตกฉานหลักธรรม 6) มีสัจจะและอธิษฐานตั้งใจทำความดี 7) มีความไม่ประมาท ทำความดีให้ถึงพร้อม มีจิตผ่องใส มีใจไม่เศร้าหมองในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
คำสำคัญ : กุศลจริยา, สังคมแห่งการตื่นรู้, พระพุทธศาสนามหายาน

 

Abstract
This academic article has the objectives To study the charity building for the development of a society of awakening according to the Maha Sukhavadi Yuu Sutra scriptures, to analyze the charity creation for the development of the awakening society according to Mahayana Buddhism. With scope for education with primary documents from the Tripitaka and secondary information from other documents.
The results of the study revealed that the Pure Land sect, or Ching T'u sect, has been passed down through the well-known Indian Mahayana masters, Nagajuna and The main sutras of Qing-Tu Buddhism are the "Sukhavativyuha Sutra", which is one of the important formulas of the Mahayana sect of the Sukhavati Sect. And is one of the 5 main scriptures of this office Inside which mentions the flower of the Lord Amitabha, the Lord Buddha (Another name is Amita Yusa), having eaten as a monk named Dharmakhon, has announced 48 great resolutions to please beings. The details of these resolutions are very important to the Sukhavati School. And as a source of faith among people of all ages, Buddhism of the Sukhavati sect has a belief similar to religion that believes in God. Buddha Amitabha acts like a god who watches over the world. And give help to the afflicted. He will lead those who have true faith in Him into the real and eternal land of happiness known as Sukhavati, essential to gain confidence, faith and dedicate their lives to Buddha. Ja Amita, the nature of the doctrine of faith Is interpreted in the principle that Amitabha Buddha is the nature of the Buddha. Avalokitesvara Bodhisattva is benevolent and Mahasakha Bodhisattva is wisdom. Which is already in all people As for Sukhavadee, referring to the state of suffering, according to the Sukhavati sect has the principles of charity, gratitude, etc. Wisdom from learning the sutra and determination in charity brightens the mind in the last moments to be born in Sukhavadi, Buddhism, Agriculture according to the viewpoint of the Sukhavati sect. The guidelines for the creation of charity for the development of the awakening society are as follows: 1) Gratitude, nurturing benefactors and compassionate to the world 2) Keeping the five precepts, Buddhist temples and charity 10 3) Faith in the jewels and believe in Law of Karma 4) perform acts of virtue 6 according to the Bodhisattva's guidelines 5) learn Clarify the principles 6) Be honest and pray, pay attention to good deeds 7) Be careful. Do good to be ready, have a clear mind, and not be sad in the last days of life.
Keywords : Charity, Society of Awakening, Mahayana Buddhism.

บทนำ
นิกายสุขาวดี (Pure Land) หรือนิกายชิง-ถู่ (Ching T’u) ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันลงมาโดยผ่านทางอาจารย์
ฝ่ายมหายานชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงคือ นาคารชุน (Nagajuna) และวสุพันธุ (Vasubandh) ครั้นแพร่หลายมาถึงประเทศจีน พระภิกษุชาวจีนชื่อ ฮุย-หยวน (Hui-Yua) เป็นผู้รับสืบทอดมาและได้ตั้งสมาคมดอกบัวขาวขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับภาวนานามของพระพุทธเจ้าอมิตาภะต่อมา ถัน-หลวน (T'an-Luan) (ค.ศ. 476-642) ได้เผยแพร่นิกายสุขาวดีให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวจีน ภายหลังถ้น-หลวน ก็มี เต้า-โจ (Tao-Cho) (ประมาณ ค.ศ. 645) และ ซาน-เต้า(Shan-Tao) (ค.ศ. 613-681) เป็นผู้รับช่วงสืบทอดกันลงมา พระสูตรที่สำคัญของพุทธศาสนานิกาย ชิง-ถู่ ได้แก่ "สุขาวดีวยูหสูตร" (Sukhavativyuha Sutra) (ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, 2545, หน้า 163-164)
พุทธศาสนานิกายสุขาวดี เป็นพุทธศาสนานิกายเดียวที่มีคติความเชื่อคล้ายกับศาสนาที่เชื่อในเรื่องพระเจ้า กล่าวคือเชื่อในเรื่องการพึ่งพิงอำนาจจากภายนอก พระพุทธเจ้าอมิตาภะ (Amitabha) ทำหน้าที่คล้ายกับพระผู้เป็นเจ้าที่คอยสอดส่องดูแลโลก และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับความทุกข์ยากทั้งหลาย พระองค์จะทรงนำผู้ที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างแท้จริงต่อพระองค์ไปสู่ดินแดนแห่งความสุขอันแท้จริงและนิรันดรซึ่งเรียกกันว่า "สุขาวดี" (Sukhavati) พระพุทธเจ้าอมิตาภะที่ทรงประทับอยู่ ณ แดนสุขาวดีหรือสวรรค์ทางทิศตะวันตก (Western Paradise) นั้น ทรงมีความรักความเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างไม่มีประมาณ อย่างไม่มีขอบเขต และอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์ทรงตั้งสัตย์อธิษฐานว่า ผู้ใดก็ตามที่มีความเชื่อมั่นอย่างแท้จริงต่อพระองค์และต่อแดนสุขาวดี ผู้นั้นจะได้ไปเกิด ณ แดนสุขาวดีนั้น (ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, 2545, หน้า 164-165)
ณ แดนสุขาวดี พระพุทธเจ้าอมิตาภะทรงมีพระสาวกที่สำคัญสององค์คือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (Avalokitesvara) และพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ (Mahasathamaprapta) พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์หรือ "กวน-อิน" (Kuan-Yin) เป็นพระโพธิสัตว์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาอยู่เสมอพร้อมที่จะไปทุกหนทุกแห่งเพื่อนำบุคคลที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาไปสู่แดนสุขาวตีแห่งความบริสุทธิ์และความสุขนั้น ส่วนพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์นั้น เป็นพระโพธิสัตว์แห่งสติปัญญาอันยิ่งใหญ่ สิ่งจำเป็นเพื่อที่จะได้เกิด ณ แดนสุขาวดีก็คือ ให้มีความเชื่อมั่นศรัทธาและอุทิศชีวิตต่อพระพุทธจ้าอมิตาภะ และท่องบ่นคาถาที่ว่า "นโม อมิตาภะ" (Namo-Amitabha) ซึ่งแปลว่าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าอมิตาภะ (ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, 2545, หน้า 165)
ลักษณะคำสอนดังกล่าวนี้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนโดยทั่วไป เพราะเป็นคำสอนที่ง่ายและใช้หลักศรัทธาแต่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามมีการตีความในธรรรมาธิษฐานในหมู่ผู้รู้ทั่วไป กล่าวคือ พระพุทธเจ้าอมิตาภะได้รับการตีความว่าเป็น "ธรรมชาติของความเป็นพุทธะ" ซึ่งมีอยู่แล้วในตัวคนทุกคน พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เป็นสัญลักษณ์ของความเมตตากรุณา และพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์เป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญา ส่วน "สุขาวดี" นั้นหมายถึงสภาพของความสิ้นทุกข์นั่นเอง (ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, 2545, หน้า 165)
มหายานมีมติว่า พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มีจำนวนมากมายดุจทรายในคงคานที และในจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้ก็มีโลกธาตุที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติแสดงพระสัทธรรมเทศนาอยู่ทั่วไปนับประมาณมิได้ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เช่นปัจจุบันโลกธาตุของเราว่างจากพระพุทธเจ้ามา 2 พันกว่าปีแล้ว แต่ในขณะนี้โลกธาตุอื่นก็มีพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นทรงดำรงพระชนม์อยู่สั่งสอนสัตว์ โลกธาตุที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัตินั้นบางทีเรียกว่า พุทธเกษตร บางพุทธเกษตรบริสุทธ์สมบูรณ์ด้วยทิพยภาวะน่ารื่นรมย์ สำเร็จด้วยอำนาจประณิธานของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็มี สำเร็จด้วยกรรมนิยมของสัตว์ก็มี เป็นสถานที่สรรพสัตว์ในโลกอื่นๆ ควรมุ่งไปเกิด พุทธเกษตรที่มีชื่อเสียงคือสุขาวดีพุทธเกษตรของพระอมิตาภะ อยู่ทางทิศตะวันตกแห่งหนึ่ง เป็นพุทธเกษตรซึ่งมีรัศมีไพโรจน์แล้วด้วยมณี ไพฑูรย์ปรากฏพิสดาร เป็นที่นิยมของพุทธสาสนิกชนฝ่ายมหายานมากกว่าสาวกนิกายอื่น การทีมหายานสร้างพุทธเกษตรอันมีลักษณะอุดมด้วยความสมบูรณ์พูลสุขเป็นทิพยภาวะ เพื่อสนองความต้องการของมหาชนที่ยังอยากมีชีวิตอยู่เสวยสุขารมณ์ ยังไม่อยากบรรลุพระนิพพานเลยที่เดียวนั้นเอง (เสถียร โพธินันทะ, 2522, หน้า 17-19)
คัมภีร์อมิตายุรธยานสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่มุ่งสอนวิธีการปฏิบัติเพื่อให้บุคคลไปเกิดในแดนสุขาวดี และมีโอกาสรับฟังธรรมจากพระอมิตาภะด้วยตนเอง ชี้ว่าบุคคลตั้งความปรารถนาไปอุบัติที่นั่นจะต้องปลูกฝังคุณธรรุมใน 3 ด้าน คือ (สุมาลี มหณรงค์ชัย, 2546, หน้า 232-233)
1) มีความกตัญญู เลี้ยงดูผู้มีพระคุณเคารพครูบาอาจารย์และผู้อาวุโส มีจิตกรุณาต่อชีวิตทั้งหลาย ไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นตั้งตนอยู่ในกุศลกรรมบถ 10 ประการ
2) จะต้องตั้งปณิธานขอถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ รักษาศีลไม่ทำลายเกียรติของตน (ด้วยการละบุญก่อบาป)
3) จะต้องมุ่งจิตทั้งหมดเพื่อการบรรลุโพธิญาณ เชื่อในกฎแห่งกรรม ศึกษาและสวดท่องพระสูตรมหายาน รวมทั้งแนะนำกระตุ้นให้ผู้อื่นศึกษาด้วย
ทั้ง 3 ข้อนี้เรียกว่า การกระทำบริสุทธิ์ที่จะนำไปสู่พุทธเกษตร (ในที่นี้คือสุขาวดี) และเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตทรงสอน
การปฏิบัติในคุณธรรมมีความกตัญญูและกุศลกรรมบถ 10 ประการ จัดเป็นกุศลจริยาเบื้องต้นด้วยกุศลกรรมบถ 10 สามารถจัดเข้าในศีล 5 ข้อได้อีกด้วย ประกอบกับการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะและดำรงตนอยู่ในศีลจึงสอดคล้องกับสองประการดังกล่าวแล้ว และมีจิตมุ่งบำเพ็ญเพื่อบรรลุพระโพธิญาณย่อมมีเมตตากรุณาในสรรพสัตว์เป็นฐานของจิตใจที่สำคัญและหนักแน่นมั่นคง รวมทั้งเชื่อกฎแห่งกรรมและมั่นศึกษาเรียนรู้ คุณธรรมจริยธรรมทั้งหมดนี้จัดเป็นกุศลจริยาพื้นฐานทำให้เป็นคนดีและมีจิตปรารถนามุ่งตรงต่อสุขาวดีพุทธเกษตรอันกล่าวได้ว่าเป็นสังคมอุดมคติที่ดีที่มนุษย์ผู้แสวงหาความสงบสุขในสังคมต้องการ แม้เมื่อยังไม่ถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตก็จะดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาทเพื่อพยายามตั้งจิตให้เป็นกุศลมีการตื่นรู้ในกุศลจริยาตลอด เป็นการเตรียมความพร้อมให้ตนเองมีคุณสมบัติที่จะเข้าสู่สุขาวดีพุทธเกษตรตลอดเวลา ถ้าหากมีผู้ปฏิบัติในลักษณะนี้เป็นจำนวนมากก็จะทำให้เกิดการพัฒนาเป็นสังคมแห่งการตื่นรู้ด้วยกุศลจริยาดังกล่าวมาได้
จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นทำให้สามารถศึกษาการสร้างกุศลจริยาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการตื่นรู้ตามแนวคัมภีร์มหาสุขาวดีวยูหสูตร, เพื่อวิเคราะห์การสร้างกุศลจริยาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการตื่นรู้ตามแนวพระพุทธศาสนามหายาน และนำเสนอแนวทางและองค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้วยหลักกุศลจริยาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการตื่นรู้ตามแบบสุขาวดีพุทธเกษตรได้

วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาการสร้างกุศลจริยาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการตื่นรู้ตามแนวคัมภีร์มหาสุขาวดีวยูหสูตร
2. เพื่อวิเคราะห์การสร้างกุศลจริยาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการตื่นรู้ตามแนวพระพุทธศาสนามหายาน
โดยมีขอบเขตในการศึกษาด้วยเอกสารปฐมภูมิจากมหาสุขาวดีวยูหสูตรและข้อมูลทุติยภูมิจากเอกสารอื่นๆ

เนื้อหา
มหาสุขาวตีวยูหสูตร หรืออมิตายุสสูตร หรือมหาอมิตายุสยูตรนี้ เป็นหนึ่งในสูตรสําคัญของนิกายมหายานสํานักสุขาวดี และเป็นหนึ่งใน 5 คัมภีร์หลักของสํานักนี้ ที่ภายในกล่าวถึงบุพชาติของพระอมิตาภอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า (อีกพระนามคือ อมิตายุสะ) เมื่อเสวยพระชาติเป็นภิกษุชื่อธรรมกรแล้วได้ประกาศปณิธานที่ยิงใหญ่เพื่อโปรดสรรพสัตว์ไว้ 48 ประการ (พระวิศวภัทร เซี่ยเกี๊ยก, 2551, หน้า (14)) รายละเอียดของปณิธานเหล่านี้มีความสำคัญต่อสำนักสุขาวดีมาก และเป็นที่มาของศรัทธาในหมู่ชนทุกยุคทุกสมัย (สุมาลี มหณรงค์ชัย, 2546, หน้า 211)
สุขาวตีวยูหสูตร เล่มใหญ่ (มหา) และเล็ก (จุล) กล่าวถึงพระเกียรติคุณขององค์อมิตาภพุทธเจ้าตั้งแต่ครั้งยังบำเพ็ญบารมีในภพชาติมนุษย์ ในมหาสุขาวตีวยูหสูตร เล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระศากยมุนีพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าในยุคปัจจุบัน) ประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ไกล้เขตเมืองราชคฤห์ ทรงเปล่งรัศมีแผ่ซ่านออกมา มีพระอินทรีย์ส่องสว่างผ่องใสเป็นที่อัศจรรย์ พระอานนท์จึงทูลถามถึงสาเหตุ พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าเรื่องราวของพระอมิตาภพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยชาติเป็นพระราชาได้มีโอกาสเฝ้าพระโลเกศวรราชพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอดีตกาลนานจนนับเวลาไม่ได้) ได้ฟังพระธรรมแล้วเกิดความเสื่อมใสขอออกบวชเป็นภิกษุนามว่า ธรรมกร พระธรรมกรได้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญบารมีอย่างยิ่งยวด ที่สำคัญท่านได้ตั้งมหาปณิธานจำนวน 48 ข้อไว้ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ภายหลังที่ได้บรรลุพุทธภูมิแล้ว ชาวสุขาวดีส่วนใหญ่จะถือเอามหาปณิธานทั้ง 48 ข้อนี้เป็นที่พึ่งในการปฏิบัติเพื่อขอบารมีจากพระอมิตาภะ บางคนถึงกับยกให้ปณิธานบางข้อ (ข้อที่ 18-21) เป็นหัวใจของแนวคิดสุขาวดี ส่วนใน จุลสุขาวตีวยูหสูตร จะกล่าวถึงคำเทศนาของพระศากยมุนีพุทธเจ้าเกี่ยวกับดินแดนสุขาวดีที่ประทานแก่พระสารีบุตรและเหล่าสาวก แตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ ทำให้เราไม่อาจสรุปได้ว่าพระสูตรเล็กเป็นส่วนย่อของพระสูตรใหญ่ (สุมาลี มหณรงค์ชัย, 2546, หน้า 202-203)
ความแตกต่างในเนื้อหาระหว่างพระสูตรทั้งสองนำไปสู่แนวความเชื่อในวิถีปฏิบัติที่แตกต่างกัน ในพระสูตรใหญ่ (มหาสุขาวตีวยูหสูตร) ชี้ว่า บุคคลสามารถไปอุบัติในแดนสุขาวดีได้ถ้ามีศรัทธา แต่การมีศรัทธาในพระอมิตาภะกับดินแดนสุขาวดีอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เราไปถึงที่นั่นได้ จะต้องกระทำความดีอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปด้วย การสั่งสมความดีประกอบกับการท่องพระนามของพระอมิตาภะไปเรื่อยๆ จึงจะทำให้ความปรารถนาขอไปเกิดที่นั่นบรรลุผล ส่วนพระสูตรเล็ก (จุลสุขาวตีวยูหสูตร) กลับเน้นว่า บุคคลสามารถไปเกิดในดินแดนสุขาวดีได้ ถ้าเพียงแต่จดจำและท่องบ่นพระนามของพระอมิตาภะในช่วงเวลาหนึ่งก่อนสิ้นใจ (2 คืนขึ้นไป) ไม่จำเป็นต้องทำกุศลกรรมใดในชีวิตมาก่อนก็สามารถสมหวังได้ สรุปก็คือ พระสูตรเล็กให้ความสำคัญกับศรัทธาเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจเรื่องกฎแห่งกรรม ส่วนพระสูตรใหญ่ให้ความสำคัญทั้งศรัทธาและผลของกรรม (สุมาลี มหณรงค์ชัย, 2546, หน้า 203)
ด้วยสุขาวดีพุทธเกษตรมีลักษณะพิเศษเกิดจากปณิธานของพระอมิตาภะพุทธเจ้า เป็นเหมือนที่พักจากวัฏฏสงสารและยังไม่เข้าถึงพระนิพพานและเป็นที่พ้นจากความทุกข์ของผู้เวียนว่ายตายเกิดอีกด้วย จึงทำให้มีผู้ศรัทธาในนิกายนี้เป็นจำนวนมาก โดยมีแนวปฏิบัติอันเป็นกุศลจริยาพัฒนาตนด้วยศีลและศรัทธาเป็นการพัฒนาพฤติกรรมและจิตใจทำให้เป็นคนมีคุณภาพต่อสังคม พร้อมกับพยายามรักษาคุณความดีไว้ไม่ประมาทในวาระสุดท้ายเพื่อไปเกิดในสุขาวดี จึงส่งผลให้เป็นคนตื่นรู้ระมัดระวังความชั่วและรักษาความดี เมื่อสังคมมีคนที่มีคุณภาพในลักษณะนี้เป็นจำนวนมากจึงสามารถสร้างเป็นสังคมแห่งการตื่นรู้ได้

ความเป็นมานิกายสุขาวดี
นักปราชญ์หลายท่านเชื่อว่า สำนักสุขาวดีแยกตัวออกมาจากพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเดิม ซึ่งก็คือสำนักมารยมิกะและสำนักโยคาจาระ โดยเฉพาะสำนักโยคาจาระที่พระฉวนซังได้นำแนวคิดจากอินเดียมาเผยแผ่จนได้รับความสนใจจากชาวจีนมากขึ้น ผู้นับถือสำนักนี้เชื่อว่า สุขาวดีได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาตั้งแต่ที่อินเดีย โดยอ้างถึงคณาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่หลายท่าน เช่น นาคารซุน อัศวโฆษ หรือวสุพันธ โดยอาศัยข้อความที่ท่านเหล่านี้ได้เคยนิพนธ์ อาทิใน ทศภูมิวิภาษา (เสถียร โพธินันทะ, 2522, หน้า 217-218) ท่านนาคารชุนเคยกล่าวถึงทางหรือวิธีที่เหล่าโพธิสัตว์จะใช้เพื่อปฏิบัติจนบรรลุปณิธานอยู่ 2 ทาง ทางแรกปฏิบัติยาก เป็นทางลำบาก เพราะมีอุปสรรคมากมายที่จะคอยขวางไม่ให้บำเพ็ญบารมีได้สำเร็จ โดยเฉพาะในเวลาที่ปราศจากพระพุทธเจ้า อุปสรรคเหล่านั้นได้แก่ (สุมาลี มหณรงค์ชัย, 2546, หน้า 197)
1) พวกมิจฉาทิฏฐิ หรือผู้ที่มีความเห็นผิดๆ ในชีวิต พวกนี้จะคอยก่อกวนพระโพธิสัตว์ จะจ้องทำลายพระธรรมของพระโพธิสัตว์
2) เหล่าสาวกที่เห็นแก่ประโยชน์สุขส่วนตน จะเห็นแก่ความสุขเฉพาะหนเพียงลำพัง ไม่มีความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง
3) พวกคนพาลที่ไร้ซึ่งหิริโอตัปปะ จะคอยจ้องทำลายกุศลธรรมที่ผู้อื่นได้เพียรสร้าง
4) วิบากอกุศลหรืออวิชชาที่อยู่ภายในจิตของพระโพธิสัตว์เอง เชื้อแห่งความชั่ว เช่น โมหะ อาจเป็นสาเหตุให้พระโพธิสัตว์สูญเสียพรหมจรรย์ได้ตลอดเวลา
5) ความไร้ซึ่งผู้อุปถัมภ์ จะต้องพึ่งแต่กำลังของตนเองแต่ฝ่ายเดียว ทำให้ท้อถอยได้ง่ายทางแรกนี้มีปัญหามาก ต่างจากทางที่สองซึ่งเป็นทางสบายปฏิบัติง่าย เพราะมีปัจจัยภายนอกมาช่วย ขอเพียงตั้งจิตอธิษฐานขอไปอุบัติ (เกิด) ที่สุขาวดี โดยได้รับความคุ้มครองช่วยเหลือจากพระอมิตาภะก็มั่นใจได้ว่าพระโพธิสัตว์นั้นจะได้หลุดพ้นอย่างแน่นอน พระอมิตาภะจะช่วยเหลือผู้ที่มีศรัทธาทุกคนให้เข้าถึงสัมมาสัมโพธิญาณได้ คณาจารย์ในจีน (นำโดยท่านตาโฉ) ได้แยก 2 ทางนี้ออกเป็นอริยมรรค ซึ่งเป็นทางเดิมที่ยาก กับ สุขาวดีมรรค ซึ่งเป็นทางใหม่ที่ง่าย นอกจากนี้ยังมีพระสูตรมหายานอีกหลายฉบับที่กล่าวสรรเสริญสุขาวดี พร้อมทั้งสนับสนุนให้ศรัทธาตั้งจิตอธิษฐานขอไปเกิดที่นั่น เช่นใน รัตนภูฏ อวตังสกสูตร, สัทธรรมปุณฑรีกสูตร, มหาเมฆสูตร, ทุนทภิราชาสูตร, พุทธธฺยานสมาธิสาครสูตร, ศรางคมสมาธิสูตร, กรุณปุณฑริกสูตรหรือ มหาสันนิปาตสูตร บรรดาอาจารย์ฝ่ายมหายานเช่น ท่านวสุพันธุ ก็เคยรจนาคัมภีร์อมิตายุสูตรอุปเทศ อธิบายการไปปฏิสนธิที่พุทธเกษตรสุขาวดี

พระอมิตาภะพุทธเจ้า (อามีท้อ)
อมิตาภะ แปลว่า มีความสว่างอันเป็นนิรันดร บางทีก็เรียกว่า อมิตายุ ซึ่งแปลว่า มีอายุยืนยาวจนยากจะประมาณ พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง จัดอยู่ในจำพวก ธยานิพุทธะ หมายถึงพระพุทธเจ้าที่เกิดจากอำนาจฌานของพระอาทิพุทธเจ้า (หรือสยัมภูพุทธเจ้า) อาทิพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปฐมที่อุบัติมาพร้อมกับจักรวาล คติของ
มหายานในยุคหลังเชื่อกันว่า ท่านเป็นผู้สร้างและเป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงสถิตอยู่เป็นนิรันดร ความเชื่อนี้ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากพระอรรถกถาจารย์ ได้สร้างพระอาทิพุทธเจ้าขึ้นเพื่อให้แบ่งภาคลงมาปรากฎเป็นพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ เพื่อจะได้สู้กับแนวคิดท้าวมหาพรหมของศาสนาพราหมณ์ โดยมีพุทธศาสนานิกายไอศวาริก ในประเทศเนปาลเป็นผู้นับถือเริ่มแรก นอกนั้นไม่แพร่หลายนัก ในลัทธิลามะเดิมขนานนามพระอาทิพุทธะว่า "พระธรรมกายสมันตภัทร" พระองค์ทรงมีธรรม (เรียกว่าศักดิ์หรือเทวี) ที่แสดงคู่เคียงกัน เรียกว่า "อาทิธรรม" หรือ "อทิปรัชญา" พระอาทิพุทธะเป็นผู้สร้างธยานิพุทธะ 5 พระองค์ และมนุษิพุทธะ 5 พระองค์ มนุษิพุทธะ ก็คือพระพุทธเจ้าที่อยู่ในกายเนื้อ เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐกำเนิดในกาลและประเทศหนึ่งๆ แล้วบำเพ็ญเพียรบารมีในฐานะเป็นพระโพธิสัตว์จนตรัสรู้ความจริง เมื่อได้โพธิญาณแล้วก็จะมีพระนามเรียกพระองค์ว่า "ตถาคต" หมายถึงผู้มาเป็นเช่นนั้น พระศากยมุนีพุทธเจ้า (หรือพระสมณโคตมพุทธเจ้า) เป็นมนุษิพุทธะองค์หนึ่งในองค์ที่เกิดจากอำนาจฌานของพระอาทิพุทธะ (สุมาลี มหณรงค์ชัย, 2546, หน้า 209-210)
พระอมิตาภพุทธเจ้าก็เกิดจากอำนาจฌานของพระอาทิพุทธะ แต่ทนอยู่ในฐานะเป็นธยานิพุทธะองค์หนึ่งอาจถือว่าเป็นอวตาของพระอาทิพุทธะ เป็นพระธยานิพุทธะองค์ที่สี่ ทรงประทับเป็นประธานอยู่ ณ พุทธเกษตรสุขาวดีทางทิศตะวันตก พระองค์ทรงมีความสำคัญมากที่สุด ยิ่งกว่าพระธยานิพุทธะองค์ใดในมหายาน พระลักษณะอยู่ในท่าเข้าฌาน เครื่องหมายคือบาตร มีพระกายสีแดง พาหนะดือนกยูง มีสัญลักษณ์ทางธรรม (ศักดิ์หรือเทวี) คือ ปัณฑราหรือดอกกุหลาบ (คณะสงฆ์จีนนิกาย, 2531, หน้า 389-422)

มหาปณิธาน 48 ข้อ
มหาสุขาวตีวยูหสูตร กล่าวถึงพระอมิตาภพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็นพระภิกษุนามว่า พระธรรมกร ได้ตั้งสัตย์ปณิธานไว้ว่า จะไม่ขอบรรลุความเป็นพุทธะจนกว่าจะได้ช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายเสียก่อน ซึ่งพระปณิธานจำนวน 48 ข้อยังดำรงอยู่ แม้ว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว รายละเอียดของปณิธานเหล่านี้มีความสำคัญต่อสำนักสุขาวดีมาก และเป็นที่มาของศรัทธาในหมู่ชนทุกยุคทุกสมัย ได้แก่ (สุมาลี มหณรงค์ชัย, 2546, หน้า 211-219)
1) หากในพุทธเกษตรของพระองค์ยังมี (ภาวะทุกข์ทรมานของ) นรก, เดรัจฉาน, เปรต หรืออสุรกาย จะไม่ขอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า (หรือไม่ขอบรรลุโพธิญาณสูงสุด อีกนัยหนึ่งคือ ไม่ขอบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทุกๆ ข้อในตอนท้ายให้หมายถึงพระธรรมกร)
2) หากในพุทธเกษตรของพระองค์ยังมีสัตว์ที่ต้องตายและตกสู่อบายภูมิ จะไม่ขอบรรลุโพธิญาณสูงสุด
3) หากสัตว์ที่อุบัติในพุทธเกษตรของพระองค์ ไม่มีฉวีวรรณผุดผ่องดั่งทองคำ จะไม่ขอบรรลุโพธิญาณสูงสุด
4) หากในพุทธเกษตรของพระองค์ยังมีการแบ่งแยกระหว่างเทวดากับมนุษย์ ยกเว้นแต่ เมื่อผู้คนเห็นว่า การแบ่งแยกนั้นเป็นเพียงสมมติบัญญัติ (ไว้ใช้กรณีเฉพาะ) จะไม่ขอบรรลุโพธิญาณสูงสุด
5) หากในพุทธเกษตรของพระองค์มีสัตว์ที่อุบัติ แต่ไร้ซึ่งบารมีสูงสุด และไม่อาจควบคุมตัวเองเพื่อที่ว่าจะได้สามารถก้าวล่วงพุทธเกษตรจำนวนหนึ่งพันล้านล้านโกฏิแห่งในชั่วขณะจิตเดียว จะไม่ขอบรรลุโพธิญาณสูงสุด
6) หากสัตว์ที่อุบัติในพุทธเกษตรของพระองค์ ไม่มี สัญญา (ความจำได้หมายรู้)... 7) ...ไม่มีตาทิพย์... 8) ...ไม่มีหูทิพย์... 9) ...ไม่มีเจโตปริยญาณ (หยั่งรู้ความคิดผู้อื่น) ของตนอย่างน้อยหนึ่งพันล้านล้านโกฏิกัลป์ จะไม่ขอบรรลุโพธิญาณสูงสุด
10) หากสัตว์ที่อุบัติในพุทธเกษตรของพระองค์ยังมีความคิดในเชิงติดยึด (หรือครอบครอง) ... 11) ...ไม่มีศรัทธามั่นคงในสัจจะตราบจนบรรลุนิพพาน จะไม่ขอบรรลุโพธิญาณสูงสุด
12) หากภายหลังที่ได้บรรลุโพธิญาณสูงสุดแล้ว มีผู้ที่สามารถประมาณจำนวนสัตว์ที่อุบัติอยู่ในพุทธเกษตรของพระองค์ได้... 13) ...รัศมี (แสงสว่าง) ของพระองค์สามารถประมาณได้ในพุทธเกษตร... 14) ...อายุของสัตว์ที่อุบัติในสุขาวดีสามารถประมาณได้... 15) ...อายุของพระองค์มีขีดจำกัดจำนวนหนึ่งพันล้านล้านโกฏิ... 16) ...ยังมีชื่อของ "บาป" หลงเหลืออยู่... 17) ...พระพุทธะทั้งหลายในพุทธเกษตรจำนวนนับไม่ถ้วน ไม่กล่าวสรรเสริญพระนามของพระองค์... 18) ...มีสัตว์ในทิศทั้งสิบศรัทธาพระองค์ด้วยความคิดที่แน่วแน่ ปรารถนาจะไปเกิดในพุทธเกษตรของพระองค์ ได้กล่าวความระลึกถึงหรือท่องชื่อของพระองค์ 10 ครั้ง ถ้าพวกเขาไม่ได้อุบัติในสุขาวดี ยกเว้นแต่พวกที่ประกอบอนันตริยกรรม... 19) ...มีสัตว์ที่มุ่งตรัสรู้ในโลกธาตุอื่น และเป็นผู้ที่ภายหลังได้ยินซื่อของพระองค์ ได้ทำสมาธิระลึกถึงพระองค์ด้วยความคิดที่แน่วแน่ขณะที่พวกเขาสิ้นใจ ถ้าพระองค์ไม่ได้ไปปรากฏต่อหน้าพวกเขาพร้อมกับเหล่าภิกษุ เพื่อช่วยให้จิตของพวกเขา จะไม่ขอบรรลุโพธิญาณสูงสุด
20) หากภายหลังที่ได้บรรลุโพธิญาณสูงสุดแล้ว มีสัตว์ในพุทธเกษตรน้อยใหญ่ได้ยินชื่อของพระองค์ ได้กำหนดจิต
ขออุบัติในสุขาวดี ได้สั่งสมคุณธรรมความดีไว้มาก แม้แต่พวกที่ได้ท่องชื่อระลึกถึงแดนสุขาวดีเพียงแค่ 10 ครั้ง ถ้าพวกเขาเหล่านี้ ไม่ได้อุบัติในสุขาวดี (ตามที่ตั้งจิตปรารถนา) ยกเว้นแต่พวกที่ประกอบอนันตริยกรรม... 21) ...เทวดาหรือมนุษย์ในสุขาวดี ไม่มี ลักษณะแห่งมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ... 22) ...สัตว์ทั้งหลายที่อุบัติในสุขาวดียังต้องเกิดใหม่อีก มากกว่า 1 ครั้ง ก่อนจะหลุดพ้น ยกเว้นเหล่าพระโพธิสัตว์... 23) ...พระโพธิสัตว์ในพุทธเกษตรสุขาวดี ไม่สามารถไปเคารพพระพุทธเจ้าอื่นมากมายในพุทธเกษตรอื่นๆ พร้อมกับสักการะ... 24) ...พระโพธิสัตว์ในพุทธเกษตรสุขาวดีปรารถนาให้กุศลกรรมของท่านบันดาลให้เกิดรัตนสมบัติหรือของขวัญต่างๆ ถ้าของขวัญหล่านั้นไม่ปรากฏตามที่ปรารถนา... 25) ...สัตว์ที่อุบัติในสุขาวดี ไม่อาจท่องจำธรรมด้วยอาการแห่งความรู้แจ้ง (สัพพัญญ)... 26) ...พระโพธิสัตว์ในพุทธเกษตรของพระองค์ตั้งจิตขอบูชาพระพุทธเจ้าในพุทธเกษตรอื่นนับไม่ถ้วน ด้วยสิ่งของต่างๆ ตามแต่ใจปรารถนา ถ้าพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ไม่ยอมรับการบูชาด้วยสิ่งของต่างๆ เหล่านั้นด้วยพระเมตตาแล้ว... 27) ...พระโพธิสัตว์ที่อุบัติในพุทธเกษตรสุขาวดี ไม่มีพลังกายเข้มแข็งประหนึ่งเพชรหรือสายฟ้าของพระนารายณ์... 28) ...สัตว์ในพุทธเกษตรของพระองค์ ไม่เพียบพร้อมไปด้วยความงามแห่งเครื่องประดับตกแต่งยังเห็นว่ามีพุทธเกษตรอื่นที่งามวิจิตรยิ่งกว่า... 29) ...พระโพธิสัตว์ที่มีบารมีธรรมน้อยในพุทธเกษตรสุขาวดี ไม่สามารถรับรู้ต้นโพธิ์ (ธรรม) อย่างน้อย 100 โยชน์ขึ้นไป... 30) ...ไม่ว่าจะมีการเรียนการสอนหรือไม่ ถ้าสัตว์ทั้งหลายในพุทธเกษตรของพระองค์หยั่งไม่ถึงความรู้สมบูรณ์... 31) ...พุทธเกษตรของพระองค์ ไม่ส่องสว่างจนมองเห็นได้จากพุทธเกษตรอื่นๆ จำนวนนับไม่ถ้วนในทุกทิศทาง... 32) ...ในพุทธเกษตรของพระองค์ ไม่มีแจกันนับแสนที่ทำจากอัญมณีทุกชนิด บรรจุเต็มไปด้วยเครื่องหอม อบร่ำตัวยควันรูป ลอยอยู่เหนือหมู่เทวดา มนุษย์ และทุกสิ่งสำหรับใช้บูชาพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์แล้ว... 33) ...ในพุทธเกษตรของพระองค์ ไม่มีสาย (ละออง) ฝนดอกไม้รัตนะตกลงมาอย่างสม่ำเสมอ และหากที่นั่น ไม่มี เสียงดนตรีก้องกังวานอยู่เป็นนิจ... 34) ...สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในสุขาวดี ไม่เต็มไปด้วยความสุขอันเหนือกว่าเหล่าเทวดาและมนุษย์... 35) ...พระโพธิสัตว์จิตใจสูงในพุทธเกษตรอื่นทั่วทุกทิศจำนวนประมาณไม่ได้ ได้ยินพระนามของพระองค์ (พระอมิตาภะ) แล้ว ไม่อาจหลุดพ้นจากการเกิด และ ไม่มีความรู้แน่ชัดในธารณีจนได้บรรลุบัลลังก์แห่งโพธิด้วยอำนาจบุญกุศลจากการได้ยินนั้น... 36) ...สตรีในพุทธเกษตรอื่นทั่วทุกทิศจำนวนประมาณไม่ได้ ได้ยินพระนามของพระองค์แล้ว ยังเกิดอาการขาดสติ (ประมาท) ไม่สามารถตั้งจิตมุ่งสูโพธิญาณ ครั้นเมื่อหลุดพ้นจากการเกิดแล้ว กลับไม่ชิงชังในธรรมชาติอิสตรีของเธอ หรือเมื่อยังต้องกลับไปเกิดก็จะเกิดเป็นอิสตรีอีก หากเป็นเช่นนั้น... 37) ...พระโพธิสัตว์ในพุทธเกษตรทั่วทุกทิศจำนวนประมาณไม่ได้ ได้ยินพระนามของพระองค์และก้มลงบูชาด้วยความเคารพแล้ว ไม่ได้รับการสรรเสริญจากหมู่เทวดาและชาวโลก ในขณะที่บำเพ็ญโพธิสัตวธรรม... 38) ...พระโพธิสัตว์ในสุขาวดียังต้องย้อม เย็บ ซัก ตากจีวรเอง หรือไม่ได้สวมใส่จีวรที่ใหม่และดีเลิศเร็วเท่าที่ใจคิด... 39) ...สัตว์ที่อุบัติในพุทธเกษตรสุขาวดี ไม่มีความสุขเทียบเท่ากับพระภิกษุที่...หลุดพันจากทุกข์ (พระอรหันต์) และได้บรรลุสมาธิระดับที่สาม... 40) ...พระโพธิสัตว์ในพุทธเกษตรสุขาวดี ไม่อาจสร้างเครื่องประดับตบแต่งจำนวนมากจากต้นไม้รัตนะต่างๆ ตามที่ใจพวกเขาปรารถนา... 41) ...พระโพธิสัตว์ที่อุบัติในพุทธเกษตรอื่นได้ยินพระนามของพระองค์แล้วยังต้องเป็นทุกข์แม้เพียงน้อยนิดจากประสาทสัมผัส... 42) ...พระโพธิสัตว์ได้ยินพระนามของพระองค์ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในพุทธเกษตรอื่นแล้ว ไม่อาจเข้าถึงสมาธิในระดับที่เรียกว่า สุวิภักตวตี (Suvibhakavati) อันเป็นสมาธิที่พระโพธิสัตว์
จะสามารถเห็นพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ จำนวนประมาณไม่ได้ในแต่ละขณะและถ้าสมาธินี้สิ้นสุดหรือขาดตอนกลางคัน... 43) ...สัตว์ทั้งหลายได้ยินพระนามของพระองค์ในพุทธเกษตรอื่นที่แตกต่างจากสุขาวดีแล้ว ไม่อาจถือกำเนิดในตระกูลที่สูงส่งจนกระทั่งบรรลุธรรม ด้วยอำนาจแห่งบุญที่เกิดจากการได้ยินนั้น... 44) ...พระโพธิสัตว์ในพุทธเกษตรอื่นได้ยินพระนามของพระองค์แล้ว ไม่บังเกิดความปีติยินดีในวิถีแห่งโพธิสัตว์จวบจนบรรลุธรรม ด้วยอำนาจแห่งบุญที่เกิดจากการได้ยินนั้น... 45) ...ทันทีที่พระโพธิสัตว์ได้ยินพระนามของพระองค์ในโลกธาตุอื่นแล้ว ไม่อาจเข้าถึงสมาธิในระดับที่เรียกว่า สมันตานุคต (Samantanugata) อันเป็นสมาธิที่พระโพธิสัตว์จะสรรเสริญพระคุณของพระพุทธองค์ต่างๆ จำนวนประมาณไม่ได้อยู่ในทุกขณะ และถ้าสมาธินี้ขาดตอนลงก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะหยั่งถึงพุทธภูมิ... 46) ...หากภายหลังที่ได้บรรลุโพธิญาณสูงสุดแล้ว สัตว์ทั้งหลายที่อุบัติอยู่ในสุขาวดี ไม่อาจได้ยินคำสอนธรรมที่พวกเขาปรารถนาเร็วเท่ากับความคิด... 47) ...ทันทีที่พระโพธิสัตว์ในพุทธเกษตรนี้หรือที่อื่นได้ยินพระนามของพระองค์แล้ว ยังหันหลังให้กับปัญญาญาณสูงสุด (อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ) ได้อีก จะไม่ขอบรรลุโพธิญาณสูงสุด
48) หากภายหลังที่ได้บรรลุโพธิญาณสูงสุดแล้ว และกลายเป็นพระพุทธศาสดา ทันทีที่พระโพธิสัตว์ในภูมิธรรมแรกขึ้นไปได้ยินพระนามของพระองค์ในพุทธเกษตรต่างๆ แล้วยังหันออกห่างพระรัตนตรัยได้ จะไม่ขอบรรลุโพธิญาณสูงสุด
ปณิธานทั้ง 48 ข้อนี้พระธรรมกรตั้งไว้ก่อนที่ท่านจะได้หลุดพ้นและกลายเป็นพระอมิตาภพุทธเจ้า เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ภายหลังที่ได้บรรลุพุทธภูมิแล้ว ชาวสุขาวดีส่วนใหญ่จะถือเอามหาปณิธานทั้ง 48 ข้อนี้เป็นที่พึ่งในการปฏิบัติเพื่อขอบารมีจากพระอมิตาภะ บางคนถึงกับยกให้ปณิธานบางข้อ โดยเฉพาะในข้อที่ 18-21 ด้วยการระลึกถึงหรือท่องชื่อของพระองค์ ได้ยินซื่อพระอมิตาภะ และเทวดาหรือมนุษย์ในสุขาวดี มีลักษณะแห่งมหาปุริสลักษณะ 32 ประการเป็นต้น ให้ความศรัทธานับถือเป็นหัวใจของแนวคิดสุขาวดี

กุศลจริยาตามทัศนะแห่งนิกายสุขาวดี
อมิตายุรธยานสูตร กล่าวถึงสมัยหนึ่งเมื่อพระศากยมุนีพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ ทรงมีโอกาสได้พบกับพระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ พระนางทรงเบื่อหน่ายและโทมนัสต่อเหตุการณ์ ที่พระเจ้าอชาตศัตรูทำปิตุฆาต (ฆ่าพ่อของตนเอง) ทรงปรารถนาจะไปเกิดในโลกธาตุอื่นพระพุทธองค์จึงทรงสำแดงพุทธาภินิหารให้โลกธาตุทั้งหลายมาปรากฏต่อหน้พระนาง ในที่สุดพระนางก็เลือกพุทธเกษตรสุขาวดีเป็นที่อุบัติ จากนั้นก็ทรงบอกวิธีที่จะได้ไปอุบัติที่นั่น ด้วยการทำให้ถึงพร้อมซึ่งคุณธรรมทั้ง 3 ด้าน คือ คุณธรรมทางโลก เช่น ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นต้น คุณธรรมทางศีล และคุณธรรมในการปฏิบัติ มีบารมี 6 เป็นต้น (สุมาลี มหณรงค์ชัย, 2546, หน้า 204)

วิธีปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่แดนสุขาวดี
ตามที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า คัมภีร์อมิตายุรธยานสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่มุ่งสอนวิธีการปฏิบัติเพื่อให้บุคคลไปเกิดในแดนสุขาวดี ชี้ว่าบุคคลตั้งความปรารถนาไปอุบัติที่นั่นจะต้องปลูกฝังคุณธรรุมใน 3 ด้าน คือ 1) มีความกตัญญู มีจิตกรุณาต่อชีวิตทั้งหลาย ตั้งตนอยู่ในกุศลกรรมบถ 10 ประการ 2) ตั้งปณิธานขอถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ รักษาศีล 3) มุ่งจิตทั้งหมดเพื่อการบรรลุโพธิญาณ เชื่อในกฎแห่งกรรม ศึกษาและสวดท่องพระสูตรมหายาน รวมทั้งแนะนำผู้อื่น (สุมาลี มหณรงค์ชัย, 2546, หน้า 232-233)
มหาสันนิปาตสูตร (มหาสันนิตาปัทสูตร) อธิบายไว้ว่าหญิงชายคนใดทำสมาธิ และท่องพระนามขององค์อมิตาภะโดยมีจิตแน่วแน่ เป็นเวลาตั้งแต่ 1 วันขึ้นไปจนถึง 7 วัน ผู้นั้นจะได้เห็นพระพุทธองค์ท่าน ถ้าไม่ได้เห็นในเวลากลางวันก็จะได้เห็นในเวลากลางคืน แม้ในเวลาหลับพระอมิตาภะก็จะทรงแสดงพระองค์ให้ปรากฏ, ท่านวสุพันธุ ได้แนะหลัก 5 ประการ ที่เรียกว่า จริยาวัตร 5 ข้อ ไว้ในคัมภีร์ อมิตายอุปเทศศาสตร์ ใช้เป็นหลักปฏิบัติสำหรับผู้ที่ปรารถนาไปอุบัติที่สุขาวดี ได้แก่ (เสถียร โพธินันทะ, 2522, หน้า 226)
1) แสดงความเคารพพระอมิตาภะเป็นนิจ ถือเป็นการบูชาทางกาย
2) ยกย่องพระเกียรติและท่องพระนามของพระองค์ท่าน ถือเป็นการบูชาทางวาจา เช่น สวดว่า "นะโม อมิตาภะ" หรือ "นำโม ออ นี ถ่อ ฮก"
3) ตั้งสัจจะและอธิษฐานขอไปเกิดในแดนสุขาวดี ถือเป็นการบูชาทางวาจาและใจ
4) มีจิตตั้งมั่นอยู่ในพระอมิตาภะ ในพระคุณของพระองค์ท่านในเหล่าพระโพธิสัตว์ และในแดนสุขาวดี ถือเป็นการบูชาทางใจ
5) มีจิตเมตตากรุณา ปรารถนาให้สรรพสัตว์เห็นแจ้งในสัจธรรม ถือเป็นการบูชาทางใจ
จริยาวัตร 5 ข้อนี้ คณาจารย์จีนได้สรุปย่อออกมาสั้นๆ เป็นหลัก 3 ข้อ คือ 1) ศรัทธา 2) ปณิธาน 3) ปฏิบัติกุศลกรรม โดยเริ่มจากการท่องพระนามเป็นตันไป การปฏิบัติจะเป็นกุศลปัจจัยให้ได้ไปเกิดตามที่ตั้งปณิธานไว้
คุณธรรมในการปฏิบัติอีกประการคือบารมี 6 ตามแนวทางของพระโพธิสัตว์ โดยเน้นการสร้างบารมี 2 ส่วน (ประยงค์ แสนบุราณ, 2548, หน้า 53-54) คือ
1) อาทิบารมี 6 อย่าง มีทาน ศีล ขันติ วิริยะ ธยาน (สมาธิ) และปัญญา ซึ่งบารมีทั้ง 6 อย่าง เป็นคู่ปรับกิเลส 3 กอง โดยทานกับศีลเป็นคู่ปรับกับโลภะ ขันติกับวิริยะเป็นคู่ปรับกับโทสะ และธยานกับปัญญาเป็นคู่ปรับกับโมหะ
2) ปริโยสานบารมี ในคัมภีร์ทศภูมิได้เพิ่มบารมีอีก 4 ข้อ รวมกับอาทิบารมี 6 ข้อ เป็น 10 ข้อ คือ (1) อุปายบารมี การรู้จักกุศโลบายในการบำเพ็ญแม้เพียงเล็กน้อยก็ได้อานิสงส์ตอบแทนมากมาย ถือว่าเป็นวิธีดึงดูดความศรัทธาเริ่มแรกแล้วค่อยพัฒนาจิตมหาชนในภายหลัง (2) ปณิธานบารมี คือ ความตั้งใจอย่างมุ่งมั่น (อธิฐาน) เพื่อให้ตนเองได้บรรลุพุทธภูมิ ซึ่งมาคู่กับวิริยะบารมี ถือว่าเป็นการสร้างบารมีเพื่อตนเองให้สำเร็จตามที่อธิฐานไว้ (3) พละบารมี คือ กำลังในการบำเพ็ญบารมี และมหายานมีการแบ่งพละบารมีออกเป็น 2 ส่วน มีจิตตมัยพละ เป็นกำลังแห่งความเข้าใจในธรรมตามเหตุผล และภาวนามัยพละ เป็นกำลังแห่งความเข้าใจตามที่บำเพ็ญอบรมมา (4) ญาณบารมี คือ ญาณหรือความรู้อันเกิดจากการบำเพ็ญบารมีที่กล่าวมาข้างต้นทั้งอาทิบารมีและปริโยสานบารมี ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญของพระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เพราะหากขาดการบำเพ็ญญาณบารมีนี้แล้วจะไม่มีปัจจัยอะไรที่จะเกื้อหนุนให้บรรลุได้

กุศลจริยาเพื่อไปเกิดในดินแดนสุขาวดีหรือพุทธเกษตร
สุขาวดีตามที่กล่าวไว้ในอมิตายุรธยานสูตรมี 9 ชั้น คือ (สุมาลี มหณรงค์ชัย, 2546, หน้า 225-231)
1) สำหรับผู้มีกรุณาจิต ศึกษาและท่องสวดพระสูตรมหายาน มีอนุสสติ 6 ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีล การบริจาคและคุณธรรมให้เป็นเทวดา เมื่อตายไปอุบัตินั่งอยู่บนบัลลังก์เพชร ได้ยินเสียงธรรมพร้อมที่จะบรรลุโพธิญาณได้ในทันที
2) สำหรับผู้มีความรู้แตกฉานหลักธรรมในพระสูตรมหายาน เชื่อมั่นในหลักคำสอน เชื่อในกฎแห่งกรรม เมื่อตายจะไปอยู่ในดอกบัวนานหนึ่งคืนดอกบัวจะบาน หลังได้ฟังธรรม 7 วันจะบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
3) สำหรับผู้เชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม เลื่อมใสนิกายมหายาน เมื่อตายจะไปอยู่ในดอกบัว 7 วันจึงจะบาน หลังได้ฟังธรรม 37 วันจะบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
4) สำหรับผู้รักษาศีลห้าศีลอุโบสถสมบูรณ์ สำรวจในการบริโภค อุทิศความดีมุ่งสู่สุขาวดี โน้มไปในสาวกยาน เมื่อตายจะไปอยู่ในดอกบัว ดอกบัวจะค่อยๆ บาน เมื่อได้ฟังธรรมก็บรรลุอรหัตตผล
5) สำหรับผู้ถือศีลอุโบสถเพียงวันหนึ่ง คืนหนึ่ง หรือสมาทานศีลภิกษุหรือศีลสามเณรไม่บกพร่อง เมื่อตายจะไปอยู่ในดอกบัว 7 วันจึงจะบาน เมื่อฟังธรรมจะบรรลุโสดาบัน ใช้เวลาครึ่งกัลป์จะบรรลุอรหัตตผล
6) สำหรับผู้กตัญญูเลี้ยงดูบิดามารดา มีจิตใจเมตตากรุณาต่อโลก เมื่อใกล้ตายได้ฟังเรื่องของสุขาวดีและมีจิตเลื่อมใส เมื่อตายจะไปอยู่ในดอกบัว 7 วันจึงจะบาน ได้ฟังธรรมจากอัครสาวกทั้งสอง ใช้เวลาหนึ่งกัลป์จะบรรลุอรหัตตผล
7) สำหรับผู้ทำชั่วแต่ไม่เคยกล้าวร้ายต่อคำสอนมหายาน แต่ได้ฟังธรรมเมื่อใกล้สิ้นใจ ระลึกถึงพระอมิตาภะ เมื่อตายจะไปอยู่ในดอกบัว 7 วันจึงจะบาน ได้ฟังธรรมจากอัครสาวกทั้งสอง ใช้เวลา 10 กัลป์จึงบรรลุภูมิธรรมแรกของพระโพธิสัตว์
8) สำหรับผู้ละเมิดศีล มีอบายภูมิเป็นที่ไป แต่ได้ฟังธรรมเมื่อใกล้สิ้นใจ ระลึกถึงพระอมิตาภะ เมื่อตายจะไปอยู่ในดอกบัว 6 กัลป์จึงจะบาน ได้ฟังธรรมจากอัครสาวกทั้งสอง จะสามารถกำหนดจิตแรกไปสู่ทางเพื่อบรรลุโพธิญาณสูงสุดได้
9) สำหรับผู้ทำกรรมหนักไว้มาก มีอบายภูมิเป็นที่ไป แต่ได้ฟังธรรมเมื่อใกล้สิ้นใจ ระลึกถึงพระอมิตาภะ เมื่อตายจะไปอยู่ในดอกบัว 12 กัลป์จึงจะบาน ได้ฟังธรรมจากอัครสาวกทั้งสอง จะเกิดปีติและมุ่งความคิดสู่พระโพธิญาณ
ตามที่นิกายสุขาวดีมีหลักแห่งกุศลจริยามีความกตัญญูเป็นต้น มีศีล ศรัทธาในพระรัตนตรัย ปัญญาจากการเรียนรู้พระสูตรและความมุ่งมั่นในกุศลทำจิตให้ผ่องใสในวาระสุดท้ายเพื่อไปเกิดในสุขาวดีพุทธเกษตรตามทัศนะแห่งนิกายสุขาวดี เมื่อพิจารณาพฤติกรรมแห่งกุศลจริยาในขณะยังมีชีวิตอยู่ ผู้มีคุณสมบัติไปเกิดในชั้นที่ 1 ถึง 6 เป็นผู้มีประพฤติกรรมในกุศลจริยาที่ดีเป็นคุณสมบัติพื้นฐานในการวิเคราะห์เพื่อสร้างสังคมแห่งการตื่นรู้ได้เป็นอย่างดี

วิเคราะห์การสร้างกุศลจริยาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการตื่นรู้
พุทธศาสนานิกายสุขาวดีมีคติความเชื่อคล้ายกับศาสนาที่เชื่อในเรื่องพระเจ้า พระพุทธเจ้าอมิตาภะ (Amitabha) ทำหน้าที่คล้ายกับพระผู้เป็นเจ้าที่คอยสอดส่องดูแลโลก และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับความทุกข์ยากทั้งหลาย พระองค์จะทรงนำผู้ที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างแท้จริงต่อพระองค์ไปสู่ดินแดนแห่งความสุขอันแท้จริงและนิรันดรซึ่งเรียกกันว่า "สุขาวดี" (Sukhavati) สิ่งจำเป็นเพื่อที่จะได้เกิด ณ แดนสุขาวดีก็คือ ให้มีความเชื่อมั่นศรัทธาและอุทิศชีวิตต่อพระพุทธจ้าอมิตาภะ และท่องบ่นคาถาที่ว่า "นโม อมิตาภะ" (Namo-Amitabha) ซึ่งแปลว่าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าอมิตาภะ
ลักษณะคำสอนดังกล่าวนี้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนโดยทั่วไป เพราะเป็นคำสอนที่ง่ายและใช้หลักศรัทธาแต่เพียงอย่างเดียว มีการตีความในธรรรมาธิษฐานในหมู่ผู้รู้ทั่วไป กล่าวคือ พระพุทธเจ้าอมิตาภะได้รับการตีความว่าเป็น "ธรรมชาติของความเป็นพุทธะ" ซึ่งมีอยู่แล้วในตัวคนทุกคน พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เป็นสัญลักษณ์ของความเมตตากรุณา และพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์เป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญา ส่วน "สุขาวดี" นั้นหมายถึงสภาพของความสิ้นทุกข์นั่นเอง
คัมภีร์อมิตายุรธยานสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่มุ่งสอนวิธีการปฏิบัติเพื่อให้บุคคลไปเกิดในแดนสุขาวดี และมีโอกาสรับฟังธรรมจากพระอมิตาภะด้วยตนเอง ชี้ว่าบุคคลตั้งความปรารถนาไปอุบัติที่นั่นจะต้องปลูกฝังคุณธรรุมใน 3 ด้าน คือ
1) มีความกตัญญูเลี้ยงดูผู้มีพระคุณ มีจิตกรุณาต่อชีวิตทั้งหลาย ตั้งตนอยู่ในกุศลกรรมบถ 10 ประการ
2) ตั้งปณิธานขอถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ รักษาศีล
3) มุ่งจิตเพื่อการบรรลุโพธิญาณ เชื่อในกฎแห่งกรรม ศึกษาและสวดท่องพระสูตรมหายาน รวมทั้งแนะนำสั่งสอนผู้อื่น
ทั้ง 3 ข้อนี้เรียกว่า การกระทำบริสุทธิ์ที่จะนำไปสู่สุขาวดีพุทธเกษตร
ท่านวสุพันธุ ได้แนะหลัก 5 ประการ ที่เรียกว่า จริยาวัตร 5 ข้อ ไว้ในคัมภีร์ อมิตายอุปเทศศาสตร์ ใช้เป็นหลักปฏิบัติสำหรับผู้ที่ปรารถนาไปอุบัติที่สุขาวดี ได้แก่
1) แสดงความเคารพพระอมิตาภะเป็นนิจ ถือเป็นการบูชาทางกาย
2) ยกย่องพระเกียรติและท่องพระนามของพระองค์ท่าน ถือเป็นการบูชาทางวาจา
3) ตั้งสัจจะและอธิษฐานขอไปเกิดในแดนสุขาวดี ถือเป็นการบูชาทางวาจาและใจ
4) มีจิตตั้งมั่นอยู่ในพระอมิตาภะ ในพระคุณของพระองค์ท่านในเหล่าพระโพธิสัตว์ และในแดนสุขาวดี ถือเป็นการบูชาทางใจ
5) มีจิตเมตตากรุณา ปรารถนาให้สรรพสัตว์เห็นแจ้งในสัจธรรม ถือเป็นการบูชาทางใจ
จริยาวัตร 5 ข้อนี้ คณาจารย์จีนได้สรุปย่อออกมาสั้นๆ เป็นหลัก 3 ข้อ คือ 1) ศรัทธา 2) ปณิธาน 3) ปฏิบัติกุศลกรรม โดยเริ่มจากการท่องพระนามเป็นตันไป การปฏิบัติจะเป็นกุศลปัจจัยให้ได้ไปเกิดตามที่ตั้งปณิธานไว้
คุณธรรมในการปฏิบัติอีกประการคือบารมี 6 ตามแนวทางของพระโพธิสัตว์ มีทาน ศีล ขันติ วิริยะ ธยาน (สมาธิ) และปัญญา ซึ่งบารมีทั้ง 6 อย่าง เป็นคู่ปรับกิเลส 3 กอง โดยทานกับศีลเป็นคู่ปรับกับโลภะ ขันติกับวิริยะเป็นคู่ปรับกับโทสะ และธยานกับปัญญาเป็นคู่ปรับกับโมหะ
กุศลจริยาเพื่อไปเกิดในดินแดนสุขาวดีหรือพุทธเกษตร 9 ชั้น คือ
1) มีกรุณาจิต ศึกษาและท่องสวดพระสูตรมหายาน มีอนุสสติ 6 ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีล การบริจาคและคุณธรรมให้เป็นเทวดา
2) มีความรู้แตกฉานหลักธรรมในพระสูตรมหายาน เชื่อมั่นในหลักคำสอน เชื่อในกฎแห่งกรรม
3) เชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม เลื่อมใสนิกายมหายาน
4) รักษาศีลห้าศีลอุโบสถสมบูรณ์ สำรวจในการบริโภค อุทิศความดีมุ่งสู่สุขาวดี
5) ถือศีลอุโบสถหรือสมาทานศีลภิกษุหรือศีลสามเณร
6) กตัญญูเลี้ยงดูบิดามารดา มีจิตใจเมตตากรุณาต่อโลก เมื่อใกล้ตายได้ฟังเรื่องของสุขาวดีและมีจิตเลื่อมใส
7) - 9) ได้ฟังธรรมเมื่อใกล้สิ้นใจ ระลึกถึงพระอมิตาภะ
ตามที่นิกายสุขาวดีมีหลักแห่งกุศลจริยามีความกตัญญูเป็นต้น มีศีล ศรัทธาในพระรัตนตรัย ปัญญาจากการเรียนรู้พระสูตรและความมุ่งมั่นในกุศลทำจิตให้ผ่องใสในวาระสุดท้ายเพื่อไปเกิดในสุขาวดีพุทธเกษตรตามทัศนะแห่งนิกายสุขาวดี ทำให้ได้แนวทางแห่งกุศลจริยา ดังนี้
1) มีความกตัญญูเลี้ยงดูผู้มีพระคุณ และมีจิตใจเมตตากรุณาต่อโลก ตามวิธีการปฏิบัติเพื่อให้บุคคลไปเกิดในแดนสุขาวดีชั้นที่ 6
2) รักษาศีลห้า ศีลอุโบสถและกุศลกรรมบถ 10 นำให้ไปเกิดในแดนสุขาวดีชั้นที่ 4-5
3) ศรัทธา ในพระรัตนตรัย มีอนุสสติ 6 ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีล การบริจาคและคุณธรรมให้เป็นเทวดา นำให้ไปเกิดในแดนสุขาวดีชั้นที่ 1 และเชื่อในกฎแห่งกรรม นำให้ไปเกิดในแดนสุขาวดีชั้นที่ 2-3
4) บำเพ็ญบารมี 6 ตามแนวทางของพระโพธิสัตว์ มีทาน ศีล ขันติ วิริยะ ธยาน (สมาธิ) และปัญญา ให้บริบูรณ์
5) ศึกษาเรียนรู้ แตกฉานหลักธรรม นำให้ไปเกิดในแดนสุขาวดีชั้นที่ 2
6) ตั้งสัจจะและอธิษฐานขอไปเกิดในแดนสุขาวดี เป็นภาพรวมแห่งการตั้งใจพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น
7) ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ทำความดีให้ถึงพร้อม มีจิตผ่องใสเพื่อใจไม่เศร้าหมอง ทำให้มีความพร้อมที่จะไปเกิดในภพภูมิที่ดีตลอดเวลา

สรุป
แนวทางการสร้างกุศลจริยาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการตื่นรู้
1) มีความกตัญญูเลี้ยงดูผู้มีพระคุณและมีจิตใจเมตตากรุณาต่อโลก
2) รักษาศีลห้า ศีลอุโบสถและกุศลกรรมบถ 10
3) ศรัทธา ในพระรัตนตรัยและเชื่อในกฎแห่งกรรม
4) บำเพ็ญบารมี 6 ตามแนวทางของพระโพธิสัตว์
5) ศึกษาเรียนรู้ แตกฉานหลักธรรม
6) มีสัจจะและอธิษฐานตั้งใจทำความดี
7) มีความไม่ประมาท ทำความดีให้ถึงพร้อม มีจิตผ่องใส มีใจไม่เศร้าหมองในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

สรุป
นิกายสุขาวดี (Pure Land) หรือนิกายชิง-ถู่ (Ching T’u) ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันลงมาโดยผ่านทางอาจารย์ฝ่ายมหายานชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงคือ นาคารชุน (Nagajuna) และวสุพันธุ (Vasubandh) พระสูตรที่สำคัญของพุทธศาสนานิกาย ชิง-ถู่ ได้แก่ "สุขาวดีวยูหสูตร" (Sukhavativyuha Sutra) ซึ่งเป็นหนึ่งในสูตรสําคัญของนิกายมหายานสํานักสุขาวดี และเป็นหนึ่งใน 5 คัมภีร์หลักของสํานักนี้ ที่ภายในกล่าวถึงบุพชาติของพระอมิตาภอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า (อีกพระนามคือ อมิตายุสะ) เมื่อเสวยพระชาติเป็นภิกษุชื่อธรรมกรแล้วได้ประกาศปณิธานที่ยิงใหญ่เพื่อโปรดสรรพสัตว์ไว้ 48 ประการ รายละเอียดของปณิธานเหล่านี้มีความสำคัญต่อสำนักสุขาวดีมาก และเป็นที่มาของศรัทธาในหมู่ชนทุกยุคทุกสมัย, พุทธศาสนานิกายสุขาวดีมีคติความเชื่อคล้ายกับศาสนาที่เชื่อในเรื่องพระเจ้า พระพุทธเจ้าอมิตาภะ (Amitabha) ทำหน้าที่คล้ายกับพระผู้เป็นเจ้าที่คอยสอดส่องดูแลโลก และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับความทุกข์ยากทั้งหลาย พระองค์จะทรงนำผู้ที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างแท้จริงต่อพระองค์ไปสู่ดินแดนแห่งความสุขอันแท้จริงและนิรันดรซึ่งเรียกกันว่า "สุขาวดี" (Sukhavati) สิ่งจำเป็นเพื่อให้มีความเชื่อมั่นศรัทธาและอุทิศชีวิตต่อพระพุทธจ้าอมิตาภะ, ลักษณะคำสอนใช้หลักศรัทธา มีการตีความในธรรรมาธิษฐานว่า พระพุทธเจ้าอมิตาภะเป็นธรรมชาติของความเป็นพุทธะ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เป็นความเมตตากรุณาและพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์เป็นสติปัญญา ซึ่งมีอยู่แล้วในตัวคนทุกคน ส่วนสุขาวดีหมายถึงสภาพของความสิ้นทุกข์, ตามที่นิกายสุขาวดีมีหลักแห่งกุศลจริยามีความกตัญญูเป็นต้น มีศีล ศรัทธาในพระรัตนตรัย ปัญญาจากการเรียนรู้พระสูตรและความมุ่งมั่นในกุศลทำจิตให้ผ่องใสในวาระสุดท้ายเพื่อไปเกิดในสุขาวดีพุทธเกษตรตามทัศนะแห่งนิกายสุขาวดี ทำให้ได้แนวทางการสร้างกุศลจริยาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการตื่นรู้ ดังนี้ 1) มีความกตัญญูเลี้ยงดูผู้มีพระคุณและมีจิตใจเมตตากรุณาต่อโลก 2) รักษาศีลห้า ศีลอุโบสถและกุศลกรรมบถ 10 3) ศรัทธา ในพระรัตนตรัยและเชื่อในกฎแห่งกรรม 4) บำเพ็ญบารมี 6 ตามแนวทางของพระโพธิสัตว์ 5) ศึกษาเรียนรู้ แตกฉานหลักธรรม 6) มีสัจจะและอธิษฐานตั้งใจทำความดี 7) มีความไม่ประมาท ทำความดีให้ถึงพร้อม มีจิตผ่องใส มีใจไม่เศร้าหมองในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

เอกสารอ้างอิง
คณะสงฆ์จีนนิกาย. (2531). พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ของมหายาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสังฆประชานุเคราะห์.
ประยงค์ แสนบุราณ. (2548). พุทธศาสนามหายาน. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. (2545). ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบตและญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ.
พระวิศวภัทร เซี่ยเกี๊ยก แปล. (2551). มหาสุขาวตีวยูหสูตร. กรุงเทพฯ : สองศยาม.
เสถียร โพธินันทะ. (2522). ปรัชญามหายาน. กรุงเทพมหานคร : บรรณาคาร.
สุมาลี มหณรงค์ชัย. (2546). พุทธศาสนามหายาน. กรุงเทพมหานคร : ศยาม.