ความรักไม่จีรัง แต่ความชังสิบันเทิง

ความรักไม่จีรัง แต่ความชังสิบันเทิง

ศิริเพ็ญ ชัยสนิท

 

"ความเกลียดชัง" เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ก่อความรุนแรงต่อกัน และ “ความรุนแรง” (Violence) เป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาของคนทุกชนชาติ ทุกสังคม ทุกหมู่เหล่า แต่เป็นที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งว่าเหตุใดเรื่องราวความรุนแรงยังคงปรากฏให้เห็นผ่านสื่อต่าง ๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงระดับบุคคลหรือในระดับสังคม ทั้งในโลกของความเป็นจริง รวมถึงในโลกจำลองอย่างภาพยนตร์ และในบรรดาภาพยนตร์ที่เน้นความรุนแรง ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาอย่างไม่ขาดหายไปจากสังคมนั้น งานของเควนติน เจอโรม ทาแรนติโน่ มักถูกกล่าวถึงบ่อย ๆ เพราะทาแรนติโน่ถือเป็นผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างว่าเป็นผู้มีความรู้อย่างถ่องแท้ในแนวทางหนังอาชญากรรม และสร้างภาพยนตร์แนวนี้ออกสู่สายตาผู้ชมมาอย่างสม่ำเสมอ

ทาแรนติโน่ ได้รับการยกย่องอย่างสูงว่าเป็นผู้กำกับที่สามารถไต่เต้าขึ้นมาจากการเป็นพนักงานร้านเช่าวิดีโอ จากการทำงานคลุกคลีอยู่กับภาพยนตร์ในร้านเช่าวิดีโอนี้เอง ทำให้เขาได้ซึมซับรับทราบและเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับภาพยนตร์มาจากวัตถุดิบใกล้ตัวจำนวนมากมายในเวลานั้น โดยเฉพาะภาพยนตร์ในแนวอาชญากรรมที่เขาชื่นชอบมากที่สุด แม้การไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้กำกับของเขานั้นทำให้ได้รับคำยกย่องชมเชยมากมาย แต่ตัวเขาเองกลับกล่าวว่า สิ่งที่เขาภูมิใจมากกว่าคำชื่นชมนั้น ก็คือ “การนั่งดูหนังสยองขวัญแทนการกินข้าวและราวกับทำวิทยานิพนธ์เล่มหนาของปริญญาโท เป็นสิ่งที่เขาภูมิใจมากกว่า” อีกทั้งผลงานของเขายังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบไม่เป็นเส้นตรง และมีสุนทรียภาพแห่งความรุนแรง ภาพยนตร์ของทาแรนติโน่ทุกเรื่องล้วนมีความรุนแรงเป็นแก่นสำคัญในการดำเนินเรื่อง ตัวละครในเรื่องส่วนใหญ่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงในด้านกายกรรม วจีกรรม อันเป็นผลสะท้อน มาจากมโนกรรมโดยตรง ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนอยู่ตลอดทั้งเรื่อง เช่น ฉากทรมานและเฉือนใบหูตำรวจ ใน Reservoir Dogs หรือฉากที่ตัวละครหญิง ตัวละครเอกของเรื่องต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม แบบหนึ่งต่อร้อยในภาพยนตร์เรื่อง Kill Bill Vol. 1 ก็ปรากฏให้เห็นภาพการฟันแขน ฟันขา ฟันศีรษะ ควักลูกตา เป็นต้น

 

ดังนั้น ทาแรนติโน่จึงประสบความสำเร็จอย่างยิ่งสำหรับการทำภาพยนตร์แนวนี้ เพราะผลงานของเขาถูกเสนอเข้าชิงรางวัลสำคัญ ๆ รวมถึงได้รับรางวัลมามากพอควร เป็นต้นว่า เขาได้รับรางวัลPalm D’Or จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รวมถึงรางวัลออสการ์ สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเรื่อง Plup fiction ในปี ค.ศ.1994 และต่อมาในปี ค.ศ.2007 นิตยสารโททอลฟิล์ม นิตยสารภาพยนตร์ชื่อดังของประเทศอังกฤษ ได้จัดอันดับให้ทาแรนติโน่เป็นผู้กำกับที่ยอดเยี่ยมตลอดกาล อันดับที่ 12 ของวงการภาพยนตร์

        เควนติน ทาแรนติโน่ เป็นผู้กำกับที่เป็นนักชมภาพยนตร์มาก่อนอย่างต่อเนื่องยาวนาน และชมภาพยนตร์มาอย่างหลากหลายประเภท ทั้งภาพยนตร์จากฮอลลีวูดและจากฮ่องกง จึงทำให้เขามีความรอบรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์อย่างหลากหลายแบบ ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้เขากลายเป็นประพันธกรผู้เป็นนักผสมผสานตระกูลภาพยนตร์หลากหลายไว้ด้วยกัน ผลงานของเขาแต่ละเรื่องมักมีการนำเสนอรูปแบบของภาพยนตร์มากกว่า 1 ตระกูล ตัวอย่างเช่น เรื่อง Plup Fiction ที่เป็นการผสมผสานตระกูลภาพยนตร์ไว้ถึง 3 ตระกูล ได้แก่ ภาพยนตร์แก๊งสเตอร์ ฟิล์มนัวร์ และภาพยนตร์ว่าด้วยการชกมวย หรือ Kill Bill : Vol.1 ที่มีการผสมผสานภาพยนตร์ไว้หลายตระกูลและหลายสัญชาติ ได้แก่ การนำเสนอท่วงท่าลีลาการต่อสู้ของตัวละครที่เหมือนกับแนวของภาพยนตร์กังฟู และการต่อสู้ของตัวละครด้วยดาบซามูไร ตามแบบภาพยนตร์ซามูไร การนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มนักฆ่าที่มีบิลล์เป็นผู้นำ และแก๊งยากูซ่า ตามแบบของภาพยนตร์แก๊งสเตอร์ และการนำเสนอโครงเรื่องแบบการแก้แค้นตามแนวทางของภาพยนตร์บุกเบิกตะวันตกแบบสปาเกตตี เป็นต้น

          ภาพยนตร์แต่ละเรื่องของเควนติน ทาแรนติโนได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความรุนแรงที่เขานำเสนอออกมาอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งได้รับการยอมรับในวงกว้างว่าเป็นผู้กำกับที่รักการนำเลือดและความรุนแรงมาล้อเล่น เขาจึงเป็นผู้มีอิทธิพลในการสร้างภาพยนตร์ในแนวทางนี้อย่างชัดเจน ทาแรนติโน่ได้ประกาศไว้ในปี พ.ศ. 2555 ว่า “ผมชอบภาพยนตร์ที่มีความรุนแรง ผมกำลังบันทึกความรู้สึกของผมว่าผมรู้สึกอย่างไรหากไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและชีวิต” และยังเคยกล่าวด้วยว่าการฉายภาพความรุนแรงในงานของเขานั้น “มันช่างเป็นขยะที่สร้างโดยงาช้าง” เพราะการนำเสนอความรุนแรงในภาพยนตร์ของเขาไม่ใช่แค่เพียงปลดปล่อยความรุนแรงที่เน้นแต่ด้านความชั่วเท่านั้น หากแต่เขาปรารถนาจะนำเสนอประเด็นที่ว่าทุกคนก็ต่างมีด้านมืดภายในตัวเอง ผ่านเครื่องมือสื่อสารอย่างภาพยนตร์

เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียด เราจะพบว่าการนำเสนอความรุนแรงในภาพยนตร์ของทาแรนติโน่นั้นอยู่ในระดับที่มากกว่าความเป็นจริง และบางครั้งก็ค่อนข้างเหนือจริงราวกับภาพยนตร์การ์ตูนก็ว่าได้ ตัวอย่างเช่น ในภาพยนตร์เรื่อง Kill Bill : Vol.1 ในฉากไคลแมกซ์ของเรื่อง ที่เดอะไบรด์ปะทะกับสมุนของ   โอเรน จะเห็นได้ว่าเดอะไบรด์ฟันแขนขา ฟันคอ ฟันอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของลูกสมุนโอเรนขาดกระเด็นกระจัดกระจายไปคนละทาง และมีการเสนอฉากที่เลือดพุ่งออกมาราวกับน้ำพุ เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ตัวละครเอกแต่ละตัวในภาพยนตร์แต่ละเรื่องของเควนตินนั้นจะเต็มไปด้วยกิเลสตัณหาและความพยาบาทอาฆาตอย่างแรงกล้า จนเป็นเหตุให้เกิดการกระทำความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันตามมาอย่างดุเดือดและไร้ความปรานีในที่สุด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ทำให้การนำเสนอความรุนแรงในภาพยนตร์ตามวิถีของทาแรนติโน่นั้นมีความน่าสนใจที่จะทำการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ในพระพุทธศาสนามีหลักพุทธธรรมที่สำคัญหมวดหนึ่ง ที่กล่าวถึงลักษณะพื้นเพนิสัยของมนุษย์ที่แตกต่างกันไปนั้นคือจริต 6 ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่าหลักพุทธธรรมข้อนี้สามารถนำมาอธิบายลักษณะของตัวละคร (character) ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ของเควนติน ทาแรนติโน่ได้

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) 2545 ให้ความหมายว่า จริต หรือ จริยา 6 คือ ความประพฤติปกติ, ความประพฤติซึ่งหนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปกติประจำอยู่ในสันดาน, พื้นเพของจิต, อุปนิสัย, พื้นนิสัย, แบบหรือประเภทใหญ่ ๆ แห่งพฤติกรรมของคน แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1. ราคจริต คือ ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม 2. โทสจริต คือ ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางใจร้อนหงุดหงิด 3. โมหจริต คือ ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางเขลา เหงาซึมเงื่องงง งมงาย 4. สัทธาจริต คือ ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใสโดยง่าย 5. พุทธิจริต หรือ ญาณจริต คือ ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปในทางใช้ความคิดพิจารณา 6. วิตกจริต คือ ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางนึกคิดจับจดฟุ้งซ่าน

พระมหามฆวินทร์ ปุริสุตฺตโม, ผศ. ดร. (2558, หน้า 22-23) ให้ความหมายของจริตทั้ง 6 ประเภทไว้ ดังนี้คือ

  1. ราคจริต หมายถึง คนที่มีนิสัยหนักแน่นไปทางรักสวยรักงาม มีระเบียบเรียบร้อย อาการที่แสดงออกมักจะสุภาพอ่อนน้อม มีความติดใจเยื่อใยได้กับทุกสิ่ง ไม่เบื่อหน่ายอะไรง่ายแม้จะเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับคนที่มีจริตแบบอื่น
  2. โทสจริต หมายถึง คนที่มีนิสัยไปในทางโกรธ ฉุนเฉียว หงุดหงิดอะไรได้ง่าย ๆ มักโมโหร้าย ขาดเหตุผล แต่ตัวเขาก็มักจะอ้างว่าเขามีเหตุผล เรื่องที่ไม่น่าโกรธก็โกรธ เรื่องที่น่าจะให้อภัยกันได้ก็ไม่ให้อภัย
  3. โมหจริต หมายถึง คนที่มีนิสัยหนักไปในทางโง่เขลา ยึดมั่นถือมั่นจนเกินเหตุ ไม่รู้จัก การปล่อยวาง แม้จะเป็นเรื่องไม่มีสาระก็ยังนำมาเก็บไว้ในใจตนเอง มักจะคิดว่าตนเองเท่านั้นถูกเสมอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเขาจะถูกหรือผิดเป็นไปได้ทั้งนั้น
  4. สัทธาจริต หมายถึง คนที่มีนิสัยหนักไปในทางเชื่อต่ออะไรง่าย ๆ ซึ่งเรื่องที่เชื่อนั้นอาจถูกหรือผิดก็ได้ คนสามารถชักชวนได้ไม่ยากทั้งในด้านดีหรือไม่ดี แต่ถ้าเชื่ออะไรอย่างปักใจแล้วก็จะถอนได้ยากเช่นกัน อาจจะถูกคนอื่นหลอกได้ง่าย
  5. พุทธิจริต หมายถึง คนที่มีนิสัยหนักไปในทางมีเหตุผลเป็นเครื่องประกอบในการตัดสินใจที่จะทำหรือจะพูด หรือแม้แต่จะคิดเสมอ ทำหรือพูดทุกอย่างแบบมีหลักการ รู้จัก     การผ่อนสั้นผ่อนยาว รู้จักการให้อภัยแก่คนที่หลงผิดแล้วกลับตัวได้ รู้จักว่าทุกคนมีนิสัยมีการกระทำมีคำพูดที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่ทุกคนมีกรรมเป็นของตน     มาจากกำเนิดภพชาติที่ต่างกัน และพร้อมที่จะแนะนำ พร้อมที่จะให้อภัย
  6. วิตักกจริตหรือวิตกจริต หมายถึง คนที่มีนิสัยหนักไปทางคิดมาก คิดย้ำ ๆ อยู่แต่เรื่องเดิม ซึ่งเรื่องที่คิดนั้นอาจจะถูกหรือผิดก็เป็นไปได้ แต่คนจริตแบบนี้มักจะคิดมากเกิน     ความจำเป็น อาจจะจัดอยู่ในประเภทคนฟุ้งซ่าน

มนุษย์ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสัญชาติ ทุกศาสนาย่อมมีจริต 6 นี้เหมือนกันทั้งหมด สุดแล้วแต่ใครจะมีจริตเป็นแบบไหน จริตทั้ง 6 นี้ มนุษย์คนเดียวอาจมีครบทั้ง 6 ก็ได้ แต่เมื่อมีจริตใดมากกว่ารุนแรงกว่า ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้นั้นได้มากกว่า เมื่อพิจารณาลักษณะของจริตทั้ง 6 แบบแล้วจะเห็นได้ว่า จากเนื้อหาในภาพยนตร์ของทาแรนติโน่ที่ส่วนใหญ่มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับการ แก้แค้นและการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา จึงส่งผลให้ตัวละครเอกที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์นั้นมีลักษณะ (character) ชัดเจนว่าเป็นผู้มีจริตแบบโทสจริต และโมหจริต ส่วนจริตแบบอื่น ๆ ก็พบว่ามีปรากฏให้เห็นอยู่ด้วยเช่นกัน ทว่าไม่โดดเด่นเท่าตัวละครแบบโทสจริต และโมหจริต ซึ่งพบว่ามีอยู่ในภาพยนตร์ทุกเรื่องของเควนติน ทาแรนติโน่

 

 

บรรณานุกรม

สมาน งามสนิท.เอกสารการสอนชุดวิชาการสร้างสรรค์และผลิตภาพยนตร์เบื้องต้น หน่วยที่ 1-8.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราส

สุภางค์ จันทวนิช. (2551). ทฤษฎีสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุระชัย ชูผกา. (2558). มายาคติในการสื่อสารออนไลน์ของเว็บไซต์การพนัน. วารสารบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร, ปีที่ 10 ฉบับ ที่ 2, หน้า 55-64

เสรี พงศ์พิศ. (2539). ศาสนาคริสต์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เอดิสัน

อนุช อาภาภิรมย์, (2543). ฉากความรุนแรงในยุคโลกาภิวัตน์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ. สถาบันวิถีทรรศน์