สังสารวัฏในทัศนะพุทธปรัชญา
- รายละเอียด
- หมวด: บทความ
- สร้างเมื่อ วันพุธ, 04 มีนาคม 2563 14:49
- อัพเดตล่าสุดเมือ วันพุธ, 04 มีนาคม 2563 14:50
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 04 มีนาคม 2563 14:49
- เขียนโดย สิริมิตร สิริโสฬส
- ฮิต: 20333
สังสารวัฏในทัศนะพุทธปรัชญา
สิริมิตร สิริโสฬส
นักศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสนาและปรัชญา
บทนำ
สังสารวัฏ คือ การที่สิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ เวียนว่ายตายเกิด อยู่อย่างนี้ไม่มีวันจบสิ้น เปรียบประดุจการท่องเที่ยวไปเป็นวงกลม กล่าวคือ สัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่าง ๆ ของสัตว์โลกด้วยอำนาจของกิเลส กรรม วิบาก หมุนวนอยู่เช่นนั้นตราบเท่าที่ยังตัดกิเลส กรรม วิบากไม่ได้ซึ่งปรากฏอยู่ในปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่ลึกซึ้งยากแก่การเข้าใจ ปฏิจจสมุปบาท หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อิทัปปัจจยตา มี 12 ประการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 พวกเรียกว่า ไตรวัฏ หรือวัฏฏะ 3 ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก กล่าวคือ เมื่อบุคคลทำอะไรลงไป ไม่ว่าจะทางกายกรรม มโนกรรม วจีกรรม หากทำลงไปด้วยเจตนาที่เกิดจากแรงหนุนของกิเลส ก็จะก่อให้เกิดกรรม เมื่อมีกรรมคือการกระทำ วิบากซึ่งเป็นผลของกรรมก็เกิดมีขึ้น กรรมจึงเป็นเหตุก่อให้เกิดผลหรือวิบาก เมื่อเกิดกรรมก็จะเกิดวิบากกรรมคือผลตามมา วิบากหรือผลอันนี้ก็จะก่อให้เกิดกิเลสขึ้นอีก และกิเลสจะก่อให้เกิดกรรมขึ้นอีกกรรมนี้จะก่อให้เกิดวิบาก หรือผลขึ้นอีก วนเวียนไปอย่างนี้เรื่อย ๆ อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าจะดับกิเลสหมดสิ้น นั่นจึงจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด และบุคคลจะสามารถหลุดพ้นจากสังสารวัฏ การเวียนว่ายตายเกิดนี้ได้ด้วยการตัดวงจร กิเลส กรรม วิบาก หรือ วัฏฏะ 3 ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงแนวทางนี้ไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชนในคำสอนเรื่องมรรค ผล นิพพาน
ความหมายของสังสารวัฏ
สังสารวัฏ คืออะไร คำว่าสังสารวัฏหรือวัฏสงสารมีใจความหรือความหมายอันเดียวกัน สังสารวัฏแยกออกเป็น สังสาร กับ วัฏฏะ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2550 ได้แสดงความหมายไว้ว่า สงสาร หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิด, การเวียนตายเวียนเกิด คำว่า วัฏ หมายถึง วงกลม, การหมุน การเวียนไป, รอบแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย สังสารวัฏแปลตามอักษรว่า การเวียนว่ายตายเกิดเป็นวงกลม โดยใจความหมายถึง “การที่สิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เวียนว่ายตายเกิด คือ เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดใหม่ แล้วตายอีกแล้วเกิดใหม่อีกวนเวียนอยู่อย่างนี้อย่างไม่มีวันจบสิ้น นี้คือ การท่องเที่ยวไปเป็นวงกลม[1]
จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หมุนเวียนอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ เช่นนี้จึงทำให้เกิดมีความเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป เช่น น้ำในแม่น้ำลำคลอง เมื่อถูกแสงอาทิตย์แผดเผา น้ำจะกลายเป็นไอน้ำ ลักษณะเช่นนี้จะเกิดการหมุนเวียนอยู่เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนี้ ได้ปรากฏในหนังสือปัญหาพระยามิลินท์ซึ่งพระยามิลินท์ได้ถามพระนาคเสนว่า “สังสารวัฏได้แก่อะไร” พระนาคเสนได้ตอบว่า “สังสารวัฏ” ได้แก่ การเวียนว่ายตายเกิด อุปมาเหมือนชาวสวนปลูกมะม่วงไว้ ครั้นเกิดผลก็เก็บมารับประทานแล้วนำเอาเมล็ดมะม่วงนั้นเพาะปลูกต่อไป เมื่อต้นมะม่วงออกผลก็เก็บ มารับประทานแล้วปลูกใหม่อีกต่อไป สังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิดก็เช่นนั้น
ดังที่พระนาคเสนได้อธิบายไว้ว่า สังสารวัฏก็มีอาการหมุนเวียนเช่นนั้นเหมือนกัน คือนับแต่เราเกิดมา เราก็ตั้งต้นเพาะความดีความชั่วเป็นตัวบุญบาปขึ้น เมื่อเราเพาะความดีความชั่วอันเป็นเหตุขึ้นแล้ว เราก็ต้องรับผลของความดีความชั่วนั้น แต่จะช้าหรือเร็วสุดแต่อำนาจบุญบาป ผลนั้นแลจูงใจให้เราเพาะเหตุต่อไปอีก เหมือนผู้ที่ได้รับประทานผลมะม่วงแล้ว เพาะเมล็ดมะม่วงนั้นขึ้นใหม่ต่อไป ฉะนั้นก็ขณะเมื่อเราเพาะเหตุและรับผลอยู่นี้ เราย่อมถูกความแก่ชราพยาธิพัดผันให้ใกล้ความตายเข้าไปทุก ๆ ขณะ ครั้นเราถึงวาระแห่งความตาย ความดีความชั่ว คือ บุญบาปที่เราได้เพาะทำไว้ในชาตินั้นก็เริ่มปั่นให้เราหมุนไปเกิดแก่เจ็บตายต่อ ๆ ไปอีก วนเวียนกันอยู่โดยทำนองนี้เรื่อยไปจนกว่าเราจะได้หยุดเพาะเหตุ 2 ประการนั้นเสีย[2]
ปฐมเหตุแห่งสังสารวัฏ
พระพุทธศาสนามีแนวคิดเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมก็เพื่อที่จะให้มองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และใช้ปัญญาพิจารณาโดยแยบคาย การให้ผลของกรรมย่อมแตกต่างกันไป กรรมบางอย่างให้ผลในชาตินี้ เรียกว่าทิฏฐธรรมเวทนียกรรมกรรม บางอย่างให้ผลในชาติหน้า เรียกว่า อุปบัชชเวทนียกรรม และ กรรมบางอย่างให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป เรียกว่า อปราปรเวทนียกรรม
กรรมเป็นของผู้ใด ผลกรรมก็ย่อมเป็นของผู้นั้น จะยกไปให้ผู้อื่นไม่ได้ นี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นเหตุและเป็นผลของกันและกัน เหตุอย่างใด ผลก็อย่างนั้นเสมอ การให้ผลของกรรมนั้นขึ้นอยู่ที่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น เมื่อมีผู้ทำกรรม ผลแห่งกรรมก็ย่อมตอบสนองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ผู้กระทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ครั้นตายไปเขาก็ต้องไปเกิดในสุคติ ผู้กระทำกรรมชั่วก็ย่อมได้รับผลชั่ว ครั้นตายไปเขาก็ต้องไปเกิดในทุคติ กรรมดีก็ย่อมได้รับผลดี ครั้นตายไปเขาก็ต้องไปเกิดในสุคติ
กรรมดีและกรรมชั่วจึงมีความสัมพันธ์กันกับการเวียนว่ายตายเกิดใหม่อย่างแน่นอน เพราะเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงสอนเรื่องกรรมอันเป็นเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดกรรมเท่านั้นเป็นตัวนำสรรพสัตว์ให้ไปเกิดในที่ดีหรือไม่ดี แต่คำว่า กรรมในที่นี้หมายถึงกรรมที่เกิดจากการกระทำของตนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมในอดีตหรือในปัจจุบันแต่ก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ในอดีตชาติเราทำกรรมชั่ว พอมาในชาตินี้ผลของกรรมชั่วตอบสนอง เราก็ทำกรรมดีเพื่อบรรเทาผลของกรรมชั่วในอดีตให้อ่อนกำลัง แต่กรรมดีในชาตินี้จะเป็นอุปนิสัยปัจจัยในชาตินี้และชาติหน้าต่อไป การเกิดใหม่ด้วยอำนาจผลของกรรมนั้น ไม่ว่าจะเกิดในโลกมนุษย์ โลกสวรรค์ และโลกนรกถือว่าเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องวนเวียนอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ชาติแล้วชาติเล่า เนื่องมาจากกรรมนั่นเอง ดังพระพุทธพจน์ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน คือผัสสะเป็นเหตุเกิดกรรม ก็ความต่างแห่งกรรมเป็นไฉน คือ กรรมที่ให้วิบากในนรกก็มี ที่ให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี ที่ให้วิบากในเปรตวิสัยก็มีที่ให้วิบากในมนุษย์โลกก็มี ที่ให้วิบากในเทวโลกก็มี [3]
จากพระพุทธพจน์นี้ แสดงให้เห็นว่า ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ถ้ากล่าวโดยปรมัตถ์แล้วก็คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ เพราะว่า ชีวิตสรรพสัตว์หาได้มีเพียงชาตินี้เดียวไม่ ชีวิตภายหลังความตายก็ต้องได้รับผลของกรรมอีกต่อไปวนเวียนไปในวัฏสงสารด้วยอำนาจของกิเลส กรรม และวิบาก จนกว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน คือ ความดับจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล ดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสสอนใช้ดับกรรมก็เพื่อให้ดับต้นตอแห่งสังสารวัฏนั่นเอง
สรุปได้ว่า บ่อเกิดแห่งสังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิดได้แก่กรรมดีและกรรมชั่วนั้นเอง
วงจรของสังสารวัฏ
วงจรของสังสารวัฏ เป็นการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารในพระพุทธศาสนาเถรวาท แบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ [4]
1) วงจรของกิเลสเช่น ในพรหมชาลสูตรว่า ทิฏฐิ 62 สัสสตวาทะ 4 กล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่นเป็นต้น มี 3 ตระกูล คือ 1. กิเลสตระกูลโลภะ 2. กิเลสตระกูลโทสะ 3. กิเลสตระกูลโมหะ
2) วงจรของกรรมตามนัยแห่งจูฬกัมมวิภังคสูตร พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงเหตุที่ทาให้บุคคลและสัตว์แตกต่างกันตามกรรมของตน คือ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกาเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมจำแนกสัตว์ให้เลวและดีต่างกันเป็นต้น
3) วงจรของวิบากในสังคีติสูตรได้แบ่งบุคคลที่จะต้องรับกรรมตามที่ตนได้กระทาไว้ 4 ประเภท คือ 1. ผู้มืดมา และมืดไป 2. ผู้มืดมา แต่สว่างไป 3. ผู้สว่างมา แต่มืดไป 4. ผู้สว่างมา และสว่างไป
กิเลส กรรม วิบากในอรรถกถาและคัมภีร์อื่น ๆ พระอรรถกถาจารยอธิบายลักษณะของกิเลสในทิศทางเดียวกับพระไตรปิฏก โดยขยายแนวคิดกวางขึ้นคือ
1) กิเลส คือ 1. กิเลสอิงอยู่ในวัตถุกาม 2. กิเลสมีสภาพน่าสะพรึงกลัว 3. กิเลสมีสภาพเบียดเบียน
2) กรรมตามนัยแหงอรรถกถาทานจึงแบ่งออกเป็นกรรม 12 คือ 1. ชนกกรรม 2. อุปัตถัมภกกรรม 3. อุปปีฬกกรรม 4. อุปฆาตกกรรม 5. ครุกกรรม 6. อาสันนกรรม 7. อาจิณณกรรม หรือพหุลกรรม 8. กตัตตากรรม หรือกฏัตตาวาปนกรรม 9. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม 10. อุปปัชชเวทนียกรรม 11. อปราปริยเวทนียกรรม 12. อโหสิกรรม คือ กรรมที่เลิกให้ผลไปโดยปริยาย
3) วงจรวิบากเรียกอีกอยางหนึ่งว่า วิปากกรรม คือ ผลของกรรม โดยผลของกรรมชั่วก็จะเรียกว่า อกุศลวิปากกรรม และ ถ้าเป็นผลของกรรมดีก็จะเรียกว่า กุศลวิปากกรรม ซึ่งกรรมที่กระทาไปนั้นไม่ว่าจะเป็นผลของกรรมดีหรือ ผลของกรรมชั่วก็ตาม ตามกฎแห่งเหตุผลของธรรมชาติแล้วยอมมีเหตุปัจจัยช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ดีขึ้นหรือเลวลงที่เรียกว่า สมบัติ 426 และวิบัติ 427 ประการดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการให้ผลของกรรม ซึ่งส่งผลได้ทั้งในทางที่ดีและทางไม่ดี คือสามารถทำให้กรรมนั้นส่งผลเร็วขึ้นหรือยับยั้งกรรมนั้นก็ได้
สังสารวัฏ คือ การท่องเที่ยวไปเป็นวงกลมวนเวียน เพราะชีวิตของมนุษย์มีลักษณะเป็นวงจร คือ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่าง ๆ เช่นนี้เรื่อยไปอย่างไม่รู้จบสิ้น ด้วยอำนาจของกิเลส กรรม วิบาก (วัฏฏะ 3) อันมีองค์ประกอบ 3 ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ตราบใดที่มนุษย์ยังตัดวงจรแห่งการเกิดนี้ไม่ได้ก็ต้องเกิดตายหมุนวนอยู่เช่นนั้น ตกอยู่ในสังสารวัฏ กล่าวคือ เมื่อมีกิเลส การกระทำของคนมีกิเลสทั้งดีและชั่ว เป็นสาเหตุของการเกิดกรรม และกรรมเป็นสาเหตุให้เกิดวิบากวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏจนกว่าจะบรรลุพระนิพพาน อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต เป็นแนวทางที่จะพาให้บุคคลหลุดพ้นจากอวิชวา ไม่ต้องเวียนกลับมาเกิดกลับมาตายให้ต้องเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
พระพุทธเจ้าทรงแสดงเกี่ยวกับกาลเวลาแห่งสังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งใช้เวลายาวนานมาก ตามทรรศนะของพุทธปรัชญา เราไม่อาจสาวไปหาจุดเริ่มต้นและเบื้องปลายของมนุษย์ได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้” เพราะสังสารวัฏนี้มีห้วงกาลที่ยาวนานมากเกินคณนา จึงนานเพียงพอที่เราทั้งหลายจะเบื่อและหาวิธีหลุดพ้น ความเชื่อเรื่องวงจรสังสารวัฏจึงมีความสัมพันธ์ที่แยกออกจากกันไม่ได้กับหลักคำสอนเรื่อง มรรค ผล และ นิพพาน รวมเรียกว่าโลกุตตรธรรม 9
[1] สุนทร ณ รังสี, พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฎก, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550), หน้า 226.
[2] กรมศิลปากร, ปัญหาพระยามิลินท์ , (พระนคร : โรงพิมพ์เจริญธรรม , 2483) , หน้า 90.
[3] องฺ. ฉกฺก. (ไทย) 22/334/464-465.
[4] พระครูปลัดพิเชษฐ์ อคฺคธมฺโม, “สังสารวัฏในพระพุทธศาสนา: ความสัมพันธ์และการตัดวงจร”, บัณฑิตศึกษาปริทรรศน์ มจร, ปีที่ 13 (2560): 149.