ชีวิตจะฉิบหายเพราะอบายมุข ๖

 

ชีวิตจะฉิบหายเพราะอบายมุข ๖

 

 

          คนทั้งหลายในโลกนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ล้วนต้องดิ้นรนหาปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพทั้งเลี้ยงชีวิตตนและครอบครัว ซึ่งรวมลงแล้วปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีวิตของฆราวาส ก็ไม่ต่างจากปัจจัย ๔ ของพระ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช แต่ในปัจจัย ๔ ของฆราวาสนั้นคือ ๑.เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ๒.อาหารเครื่องบริโภคใช้สอย ๓.ที่อยู่อาศัย และ ๔.ยารักษาโรค เป็นปัจจัย ๔ ที่คนทั้งหลายในโลก ต่างเสาะแสวงหามาเพื่อตอบสนองความต้องการและเพื่อความเป็นไปได้ของชีวิตตนและครอบครัว

          แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่หามาได้ หากเจ้าของไม่รู้จักรักษาสิ่งที่มีอยู่ไว้และทำสิ่งที่มีอยู่ให้เพิ่มพูน ย่อมจะมีการหมดสิ้นและเสื่อมไปตามกาลเวลา อันจัดว่าเป็นทางฉิบหายของการดำเนินชีวิต หรือว่าความเสื่อมของการใช้ชีวิต ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาได้ชี้ทางถึงความเสื่อมไว้ ๖ อย่าง โดยชื่อว่า อบายมุข ๖ อันได้แก่ ๑) ดื่มน้ำเมา. ๒) เที่ยวกลางคืน. ๓) เที่ยวดูการเล่น. ๔) เล่นการพนัน. ๕) คบคนชั่วเป็นมิตร. ๖) เกียจคร้านทำการงาน.[1] ทั้ง ๖ ประการนี้ เป็นอธรรม หรือธรรมฝ่ายดำ ที่คนทั้งหลายควรศึกษาทำความเข้า เพื่อนำไปปฏิบัติด้วยการละอบายมุขที่ตนเคยประพฤติมาแล้ว และหลีกให้ห่างไกลจากอบายมุขที่ตนยังไม่เคยประพฤติ

          อธิบายอบายมุข ๖

๑. ดื่มน้ำเมา หมายถึง การดื่มสุราเมรัย ซึ่งในข้อนี้ก็รวมถึงสิ่งเสพติดอันมีโทษมากกว่าคุณทุกชนิด ซึ่งเมื่อผู้ใดข้องเกี่ยวกับสิ่งเสพติดให้โทษเหล่านี้ ย่อมทำให้เกิดความฉิบหายตามมาอีก ๖ ประการ คือ ๑) เสียทรัพย์. ๒) ก่อการทะเลาะวิวาท. ๓) เกิดโรค. ๔) ต้องติเตียน. ๕) ไม่รู้จักอาย. ๖) ทอนกำลังปัญญา.[2]

๒. เที่ยวกลางคืน หมายถึง กาแสวงหาความสำราญอันจัดเป็นโลกีย์ในเวลากลางคืน ตามแหล่งบริการที่จะก่อให้เกิดตัณหาราคะ ความกำหนัดในกามารมณ์ และสิ่งเสพติดต่าง ๆ ในปัจจุบันมีแหล่งบริการประเภทนี้อยู่มากมายทั้งในเมืองและในชนบท ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาได้ชี้ทางถึงความเสื่อมแห่งการเที่ยวกลางคืนไว้ ๖ อย่าง คือ ๑) ชื่อว่าไม่รักษาตัว. ๒) ชื่อว่าไม่รักษาลูกเมีย. ๓) ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ. ๔) เป็นที่ระแวงของคนทั้งหลาย. ๕) มักถูกใส่ความ. ๖) ได้ความลำบากมาก.[3]

๓. เที่ยวดูการเล่น หมายถึง การแสวงดูการละเล่นต่าง ๆ มีโทษคือทำให้การงานเสื่อมเสีย เพราะใจกังวลคอยคิดแต่การละเล่น และเสียเวลาเมื่อไปดูสิ่งนั้น ๆ ก็ย่อมเสียทรัพย์สินเงินทองเพื่อสนองตัณหาทางทวารตาของตน ซึ่งการเที่ยวดูการละเล่นมีโทษตามวัตถุที่ไปดู ๖ อย่าง คือ ๑) รำที่ไหนไปที่นั้น. ๒) ขับร้องที่ไหนไปที่นั้น. ๓) ดีดสีตีเป่าที่ไหนไปที่นั้น. ๔) เสภาที่ไหนไปที่นั้น. ๕) เพลงที่ไหนไปที่นั้น. ๖) เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั้น.[4]

๔. เล่นการพนัน หมายถึง การเล่นชนิดหนึ่งเพื่อเอาเงินหรือสิ่งอื่นใดอันมีค่าด้วยการเสี่ยงโชค โดยการทำนายหรือคาดเดาผลที่เกิดขึ้นในอนาคต การพนันในปัจจุบันนั้นมีหลายอย่าง เพื่อตอบสนองความโลภของคน สังคมไทยมีความสัมพันธ์กับการพนันมาเป็นเวลานาน มีผลกระทบต่อสังคมในด้านลบสูงมาก การเล่นการพนันต่อมก่อให้เกิดโทษ ๖ อย่าง คือ ๑) เมื่อชนะย่อมก่อเวร.๒) เมื่อแพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป.๓) ทรัพย์ย่อมฉิบหา๔) ไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ.๕) เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อน.๖) ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย.[5]

๕. คบคนชั่วเป็นมิตร หมายถึง การมีคนชั่วเป็นเพื่อน ย่อมก่อให้เกิดโทษต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ซึ่งสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ที่เกิดคนแก่ตนนั้น ส่วนหนึ่งการคบเพื่อ ดังสำนวนไทยที่ว่า คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล และดังพระบาลีที่ว่า ยํ เว เสวติ ตาทิโส คบคนเช่นใด ย่อมเป็นคนเช่นนั้น ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาได้สอนให้ละ ไม่คบ ไม่เสวนากับคนพาล แต่สอนให้คบกัลยาณมิตร ด้วยว่าคนพาล ย่อมนำพาผู้คบให้กลายเป็นคนไม่ดีด้วย ซึ่งโทษของการคบคนพาล หรือคนชั่วเป็นมิตร มี ๖ อย่าง คือ ๑) นำให้เป็นนักเลงการพนัน. ๒) นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้. ๓) นำให้เป็นนักเลงเหล้า. ๔) นำให้เป็นคนลวงเขาด้วยของปลอม. ๕) นำให้เป็นคนลวงเขาซึ่งหน้า ๖) นำให้เป็นคนหัวไม้.[6]

๖. เกียจคร้านทำการงาน หมายถึง ความปราศจากความเพียรในการแสวงหาทรัพย์ ดังที่แสดงไว้ตั้งแต่ต้นว่า ทุกชีวิตเมื่อเกิดมาย่อมแสวงหาปัจจัย ๔ เครื่องเลี้ยงชีวิต แต่ปัจจัย ๔ จะเกิดมีได้ก็ต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียรในการแสวงหา แต่ถ้าปราศจากความขยันแล้ว ปัจจัย ๔ ก็เกิดขึ้นได้ยาก หรือไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งคนผู้ความเกียจคร้านนั้น มักอ้างถึงสิ่งต่าง ๆ แล้วไม่ทำการงาน ซึ่งรวม ๆ แล้ว มี ๖ อย่าง คือ ๑) อ้างว่าหนาวนัก แล้วไม่ทำการงาน. ๒) อ้างว่าร้อนนัก แล้วไม่ทำการงาน. ๓) อ้างว่าเวลาเย็นแล้ว แล้วไม่ทำการงาน. ๔) อ้างว่ายังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำการงาน. ๕) อ้างว่าหิวนัก แล้วไม่ทำการงาน. ๖) อ้างว่าระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน.[7]

ผู้หวังความเจริญงอกงามไพบูลย์ในชีวิต และหวังความมั่งมีโภคทรัพย์ เมื่อเห็นทางแห่งความเสื่อมนี้แล้ว พึงเว้นอบายมุขคือเหตุเครื่องฉิบหาย ๖ ประการนี้เสียให้ห่างไกล เหมือนบุคคลผู้มีชาติรักสะอาด อาบน้ำแต่งตัวเรียบร้อยดีแล้ว เดินหลีกให้ห่างไกลจากมูถและกรีส ฉะนั้น.

สิริพร ครองชีพ

๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๒

 


[1] ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๖.

[2] ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๖.

[3] ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๗.

[4] ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๗.

[5] ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๗.

[6] ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๗.

[7] ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๗.