“เกิดมาจากไหน...ตายแล้วไปไหน” ไม่รู้ ?

 

 

“เกิดมาจากไหน...ตายแล้วไปไหน” ไม่รู้ ?

                ทุกสรรพชีวิตเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ ในวิถีมนุษย์นั้น ย่อมแสวงหาดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ของชีวิต และปัจจัยที่เพิ่มมากขึ้น มนุษย์มีสัญชาติญาณแห่งความละโมบ กอบโกย แก่งแย่งแข่งขัน โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง แม้จะได้มาด้วยวิธีการฉกฉวยเบียดเบียนซึ่งกันละกันก็ตามที เพื่อแลกกับความมั่นคงในชีวิต เสพติดวัตถุนิยม ย่อมนำมาสู่วัฏจักรของอวิชชา จนหลงลืมถึงคุณค่าของจิตสำนึกที่ดี ความพอเพียง ความพอดี ตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สั่งสอนให้คนกระทำความดี เกรงกลัวต่อบาป เพราะฉะนั้นคติธรรมทางศาสนาจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยขัดเกลาจิตใจ และชี้ให้เห็นหนทางอันนำมาซึ่งความสงบทางใจ ทางสังคม และเข้าใจสภาวะสุขเวทนาและทุกขเวทนาอันเกิดจากกิเลส เพื่อยกระดับจิตสำนึกที่ดี และเข้าใจถึงพื้นฐานอันเป็นสามัญแห่งสัจธรรมในอัตตาของมนุษย์  

            แม้ว่าเรื่องของชีวิตจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นตามธรรมดาของโลก ของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และสู่สุดท้าย ย่อมสูญสลายไป แต่คนส่วนมากมักจะไม่เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริง และมักมองเป็นเรื่องที่ไกลเกินตัว จนเกิดความประมาทในชีวิต เป็นเหตุให้ไม่สามารถกำหนดท่าที กำหนดแนวทาง และการกระทำที่ถูกต้องในเรื่องที่สำคัญนี้ได้ ซึ่งผลที่ตามมาย่อมเป็นความทุกข์ในระดับต่างๆ หรือไม่สามารถได้รับประโยชน์ที่พึงได้ จากการเกิดมามีชีวิตในฐานะคนคนหนึ่ง

               ชีวิตคืออะไรและเป็นอย่างไร โดยเหตุที่ชีวิตเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดำเนินไปได้ เพราะอาศัยการประกอบกันเข้าของส่วนต่างๆ ดังกล่าวมา พุทธศาสนาจึงถือว่า ตัวตนที่แท้จริง ของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นไม่มี เพราะ ประการแรก ตัวสิ่งที่ถือว่าเป็นชีวิตนั้น มาจากการรวมกันของส่วนประกอบต่างๆ และ ประการที่สอง แม้ส่วนประกอบต่างๆ ที่มารวมกันเข้าเป็นชีวิตนั้นเอง แท้จริงแล้วก็ไม่ได้มีตัวตนของมันจริงๆ เป็นแต่เพียงการประกอบกันเข้าอย่างเหมาะสมของส่วนต่างๆ เท่านั้น การเตรียมตายให้เป็นนั้นต้องทำอย่างไรกันบ้างสิ่งที่ชาวพุทธทุกคนจะต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องความตายเป็นประการแรกเลยคือ ตายแล้วไม่สูญ จำคำนี้ไว้ด้วย ใครบอกว่าตายแล้วสูญอย่าไปเชื่อตายแล้วยังต้องไปต่ออีก แต่ตายแล้วไปไหนอีกเรื่องหนึ่ง

            ดังที่กล่าวมานั้น ในทัศนะนี้ที่ถือว่าชีวิตเป็นผลมาจากการมีส่วนต่างๆ มาประกอบกันเข้า และแต่ละส่วนก็มีส่วนประกอบย่อยของตนอีกมากมายนั้น สะท้อนแนวคิดสำคัญของพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับโลกและชีวิตว่า สิ่งทั้งหลายที่เราบัญญัติเรียกว่า คน สัตว์ สิ่งของต่างๆ นั้น ไม่ได้มีอยู่ เป็นอยู่ โดยตัวของมันเอง แต่ มีอยู่ เป็นอยู่ เพราะมีปัจจัยต่างๆ มาประกอบกันเข้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มีอยู่เป็นอยู่ โดยอิงอาศัยสิ่งอื่น ไม่ใช่ด้วยตัวของมันเอง สิ่งทั้งหลายนั้น เป็นทั้งผลที่เกิดมาจากสิ่งอื่น และในขณะเดียวกันตัวมันเองก็เป็นเหตุปัจจัยของสิ่งอื่นด้วย เพราะมีสภาพเช่นนี้เอง นี่เป็นสัจธรรมหรือเป็นกฎสากลที่เป็นจริงกับทุกสิ่งในโลกนี้

            ตายแล้วไปไหน ในเรื่องนี้นั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส เอาไว้ชัดถึง ๓ ประเด็นใหญ่ว่า เมื่อตายแล้ว 

                        ๑) บางพวกตกนรกหรือไปนรก   ๒) บางพวกไปสวรรค์   ๓) บางพวกหมดกิเลส แล้วก็ไปนิพพาน

            บางคนมามืดแล้วก็ไปมืดมามืดคือมาจากนรก พอมาเกิดเป็นคนแล้วทำความชั่วอีกก็ต้องกลับไปนรกอีกนี่มามืดแล้วก็ไปมืด บางคนมามืดไปสว่างคือพ้นจากนรกขึ้นมาเกิดเป็นคนแล้วก็ตั้งใจทำความดีอย่างเต็มที่ พอละโลกไปแล้วก็ได้ไปสวรรค์กับเขาเหมือนกัน บางคนมาจากสวรรค์แต่ลืมตัวมาจมกับอบายมุข พวกนี้มาสว่าง แต่ขากลับไปมืด ส่วนบางคนมาสว่างคือมาจากสวรรค์แล้วขากลับก็กลับสวรรค์ตามเดิม 

            เพราะฉะนั้นความเชื่อ ความศรัทธา หากแลเห็นว่าอดีตมี ปัจจุบันมี กาลภายภาคหน้ามี เหตุสู่ผลทางสังสารวัฏของชีวิต ย่อมเป็นกฎทางธรรมชาติ และการกระทำ หรือกรรมย่อมเป็นเหตุและปัจจัยให้เกิด ภพภูมิ ชาติภูมิ ความตายกับเรื่องของชาติหน้า เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจและสงสัยของคนจำนวนมากว่ามีอยู่จริงหรือไม่  ตามหลักฐานในคัมภีร์พุทธศาสนา ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องตายแล้วเกิด หรือเรื่องชาติหน้า ดังจะเห็นได้จากคำสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ที่สามารถสรุปเพื่อตอบคำถามนี้ได้ว่า ถ้าตราบใด ที่ยังมีเหตุปัจจัยอยู่ แม้ตายแล้ว ก็ยังเกิดใหม่ได้อีก เหตุปัจจัย ของการเกิดใหม่นั้นส่วนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องกรรมและผลของกรรมในรูปแบบต่างๆ เราจะเข้าใจชีวิตและความตายในทัศนะของพุทธศาสนาได้ชัดขึ้น ถ้าเริ่มต้นจากเรื่องของ อิทัปปัจจยตา (ปฏิจจสมุปบาท) และ ไตรลักษณ์ อิทัปปัจจยตา คือ กฎแห่งการเกิดและการดับของสิ่งทั้งหลายที่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย เพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิด ชีวิตจึงมีได้ เพราะเหตุปัจจัยดับไป ชีวิตจึงดับ (ตาย) เหตุปัจจัยที่ใกล้ชิดของชีวิตก็คือ เรื่องของ ขันธ์ ๕ ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้แก่เรื่องของสิ่งที่เป็นรูปธรรม และสิ่งที่เป็นนามธรรม หรือที่เราเข้าใจกันง่ายๆ ว่า กายกับจิต เพราะฉะนั้น หนทางใดเป็นไปเพื่อการดับทุกข์ เข้าใจ เข้าถึง การพิจารณาทุกข์ การพัฒนาเจริญสภาวะจิตให้งาม ประณีตขึ้น ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ การเรียนรู้ เข้าใจ วิสัยทางโลกียธรรมและโลกุตตรธรรม ในชีวิตของความเป็นมนุษย์นี้ 

         “มนุษย์มาจากไหน เกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหนไม่รู้ ? เพราะปัจจุบันไม่รู้ไปไหน อันเป็นธรรมดา...หากชีวิตนั้นรู้ เข้าใจเป้าหมายในปัจจุบัน ย่อมเข้าใจเหตุแห่งการเกิด ดับ เพราะฉะนั้นเมื่อตายแล้วไปไหน ย่อมรู้ได้เฉพาะตน อันเป็นธรรมดา อย่างนั้นแล

นายสักชาติ ศรีสุข