ชีวิตคืออะไร ?
- รายละเอียด
- หมวด: บทความ
- สร้างเมื่อ วันอาทิตย์, 26 มกราคม 2563 03:34
- อัพเดตล่าสุดเมือ วันอาทิตย์, 26 มกราคม 2563 03:35
- เผยแพร่เมื่อ วันอาทิตย์, 26 มกราคม 2563 03:34
- เขียนโดย กรกนก ศรีสุวรรณ
- ฮิต: 11601
การดำเนินชีวิตของมนุษย์จากอดีตถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคตนั้นไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความทุกข์ของชีวิตเป็นเหตุการณ์ที่อยู่เบื้องหลังของชีวิต กล่าวคือ ความแก่ ความเจ็บ และความตาย มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างใกล้ชิดที่สุด สิ่งนั้นคือรูปและนามเพื่อทำให้ทราบถึงความสัมพันธ์กันระหว่างขันธ์แต่ละขันธ์ที่จะนำไปสู่การฝึกฝนอบรมจิตให้รู้เท่าทันต่อสภาวะธรรมทั้งหลายเพื่อที่จะเรียนรู้สามารถตัดรอนขบวนการเกิดสุขและการดับของทุกข์ซึ่งมีผัสสะเป็นแดนเกิดระหว่างอายตนะภายนอกและภายในที่เชื่อมต่อกันระหว่างขันธ์จนทำให้เกิดเป็นความรู้ขึ้นที่เรียกว่าวิญญาณขันธ์อันเป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวงที่ทำให้มนุษย์หลงยึดถือว่าเป็นตัวตนจนเกิดเป็นอุปาทานขันธ์
พุทธปรัชญาได้เน้นให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์มีองค์ประกอบอยู่สองส่วนนั้นคือ รูปและนาม โดยตัวสภาวธรรมจริง ๆ แล้วไม่มีตัวตน มีแต่สภาวะที่ไร้รูปนาม เป็นเพียงพลังงานศักดิ์เป็น ขันธ์ปรมัตถ์คือ อนัตตา การเกิดขึ้นและดับไปของขันธ์ห้ามีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การศึกษาถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ทราบถึงระบบร่างกายมนุษย์ ขันธ์เป็นตัวปิดบังความจริงเอาไว้หรือว่ามนุษย์ไม่สนใจที่จะศึกษาในเรื่องเหล่านี้จึงทำให้อำนาจของอวิชชาเป็นตัวชี้นำชีวิตมนุษย์ให้เดินไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาและอุปาทานขันธ์จนเป็นความทุกข์ ความยึดถือขันธ์ห้าเป็นอัตตานั้นจะทำให้มนุษย์เกิดความทุกข์
พุทธปรัชญาได้กล่าวถึงความเป็นเหตุปัจจัยในการเกิดของขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของชีวิตและมีภาวะอันเรียกว่าการดำรงอยู่ของสภาวะธรรมทั้งปวงซึ่งจะเป็นแนวทางนำไปสู่ความหมดจดแห่งกิเลสได้ เบญจขันธ์ถึงจะรวมกันอยู่เป็นกลุ่มก้อนก็ตามแต่ก็ยังสามารถแยกออกเป็นส่วนย่อย ๆ ได้ พระพุทธศาสนากล่าวว่าขันธ์ห้าอันเป็นเพียงกระบวนการ ทางร่างกายและทางจิต ซึ่งเป็นผลของปัจจัยปรุงแต่ง เป็นกฎที่อาศัยกันและกันเกิดเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทธรรม การเกิดขึ้นของชีวิตมนุษย์และเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อความทุกข์ให้แก่มนุษย์ผู้ยังหลงอยู่กับขันธ์ทั้งห้านี้อยู่แน่นอน
ชีวิตคืออะไร? ยากที่จะตอบได้ว่าชีวิตคืออะไร คำตอบที่จะได้รับจากแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป บางคนอาจตอบว่า ชีวิตคือการเดินทาง บางคนอาจตอบว่าชีวิตคือการต่อสู้ หรือบางคนอาจตอบว่าชีวิตคือความทุกข์ คำตอบที่ได้รับซึ่งแตกต่างกันเช่นนี้ก็เพราะว่าโดยธรรมชาติชีวิตนั้นเป็นของแต่ละคน ต่างคนก็ต่างได้รับประสบการณ์ และการเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตมาแตกต่างกันนั้นเอง แต่คำตอบต่าง ๆ นั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งหรือบางส่วนของชีวิตทั้งหมด เกี่ยวกับชีวิตมีนักชีววิทยาศึกษาเรื่องสิ่งมีชีวิตว่า มีลักษณะอย่างไร ต่างจากสิ่งไม่มีชีวิตอย่างไร แต่ชีวิตคืออะไรนั้น นักชีววิทยาก็ตอบไม่ได้
นักปรัชญากรีกโบราณท่านหนึ่งคือ ธาเลส (Thales) ได้ตั้งปัญหาขึ้นว่า มนุษย์ โลก หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบๆตัวเราจะรู้ได้อย่างไร โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจของเทพเจ้าเหมือนนักปรัชญาในอดีตที่ใช้วิธีการที่สั่งสอนกันมา และได้คำตอบว่า มนุษย์ และโลกตลอดถึงสรรพสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นและดำเนินไปด้วยกฎแห่งธรรมชาติ เพื่อแสวงหาความจริงอันแท้จริงกลุ่มนักปรัชญากรีกได้พยายามทอนย่อยกฎทางธรรมชาติให้เป็นหน่วยย่อยๆนี้ว่า “ปฐมธาตุ” และธาเลสก็ได้ตั้งเป็นทฤษฎีว่า ความแท้จริงอันสุดท้ายนั้นคือ ปฐมธาตุ ทุกสิ่งเกิดจากปฐมธาตุนี้เอง และยังให้ทรรศนะว่ามนุษย์ก็เกิดขึ้นมาโดยการลอกเลียนแบบมานั้นเอง โสเครติส กล่าวว่า มนุษย์คือสัตว์ที่มีเหตุผล มีมันสมองเปรื่องปราด ส่วนท่านพลาโต้นักปรัชญากรีกผู้เรืองนามได้กล่าวว่ามนุษย์คือสัตว์สังคมหรือสัตว์หมู่ เขาเกิดในสังคมอยู่ในสังคมและตายในสังคม” และท่านอาริสโตเติ้ล กล่าวว่า “มนุษย์คือสัตว์ที่มีความเกี่ยวพันกันทางการเมือง
แต่ว่านักปรัชญากรีกในยุคต่อ ๆ มาแม้ว่าจะยอมรับหลักการร่วมกันว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความจริงที่เป็นปฐมกำเนิดแรกร่วมกันก็ตาม แต่ต่างก็ยังถกเถียงกันในเรื่องเนื้อหาว่าความแท้จริงที่เป็นต้นกำเนิดหรือปฐมธาตุ นั้นมาจากไหน ซึ่งยังไม่อาจสรุปรวมกันได้เป็นแนวคิดเดียว แตกออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ไปตามวิถีทรรศน์ของกลุ่มต่าง ๆ
นักปรัชญาฮินดูมองชีวิตในความหมายของการเวียนว่าย ตาย-เกิด ในสังสารวัฎ โมกษะ มีความหมายถึงการหลุดพ้นจากเวียนว่ายตาย-เกิด ไปสู่ความอมตนิรันดร์ ถ้ามองชีวิตในความหมายของการแสวงหาความเป็นจริง การบรรลุโมกษะ ย่อมหมายถึงการประจักษ์แจ้งในความเป็นจริงที่เป็นอัตวิสัย (อาตมสัตย์) อันเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นจริงที่เป็นภาววิสัย (พรหมสัตย์) กล่าวคือ การประจักษ์แจ้งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวระหว่าง อาตมันกับพรหมัน ไม่ว่าจะกล่าวในความหมายเช่นไร โมกษะย่อมมีความหมายเป็นหนึ่งหนึ่งเดียวสำหรับชาวฮินดู คือเป้าหมายที่ทุกคนต้องไปให้ถึง เพราะทุกชีวิตมีอยู่และเป็นไปเพื่อโมกษะเท่านั้น แต่คำว่า “มนุษย์” ในทรรศนะพุทธปรัชญา แตกต่างจากฮินดูโดยแท้ คือไม่มีชีวาตมันหรืออัตตาที่เที่ยงแท้ถาวรในตัวมนุษย์ พุทธศาสนาถือว่า “มนุษย์” แต่ละคนนั้นประกอบด้วย ”รูปและนาม” หรือการรวมกันเข้าของรูปกับนาม จึงมีชื่อเรียกว่ามนุษย์ สภาพที่แท้จริงของมนุษย์คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
มนุษย์ตามทรรศนะในพุทธปรัชญา
พุทธปรัชญาถือว่ามนุษย์มีกรรมเป็นของตนเองซึ่งเป็นสมุฏฐานให้มนุษย์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารอยู่ไม่ขาดระยะ ดังนั้นคำว่า "กรรม" เป็นคำกลาง ๆ จะมุ่งไปทางดีก็ได้ ทางชั่วก็ได้ การกระทำดี เรียกว่า "กุศลกรรม" ส่วนการกระทำชั่ว เรียกว่า "อกุศลกรรม" ถ้าเรากระทำอะไรลงไปด้วยกายเรียกว่า " กายกรรม " ทำด้วยวาจา เรียกว่า " วจีกรรม " นึกคิดด้วยใจ เรียกว่า " มโนกรรม" การศึกษาให้รูแจ้งในเรื่องกรรม และการเวียนว่ายตายเกิด จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่นำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีผลเป็นความสุข สงบแก่ผู้ศึกษา มีประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตให้สูงขึ้น และทำให้เห็นว่าการเกิดของเรามีความหมาย ไม่ใช่เกิดมาโดยความบังเอิญ มีชีวิตอยู่อย่างเลื่อนลอย และตายไปอย่างน่าสมเพชเวทนา เรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด ทำให้คนหายงมงาย และตื่นเต้นต่อความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ช่วยคลี่คลายความข้องใจในความสับสนของชีวิต เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชน ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง เพื่อชีวิตของตนเองจะได้ดีขึ้น
ความเชื่อในกรรม ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นของประเสริฐยิ่ง ควรเพาะให้มีขึ้นในใจของทุกคนและถ้าคนทั้งโลกเชื่อมั่นในเรื่องกรรมแล้ว มนุษย์ในโลกจะได้รับความสุขใจขึ้นมาก เป็นสิ่งที่ทำให้คนทำแต่กรรมดี โดยหวังผลที่ดี เรื่องวัฏสงสารและกรรมนี้ เป็นของต้องมีความเชื่อ เพราะเป็นของที่น่าเชื่อ กว่าความเชื่ออีกหลายอย่าง
หลักกรรมเป็นคำสอนที่สำคัญในพุทธปรัชญา มีปรากฏอยู่ในพระสูตรหลาย ๆ แห่ง หลักกรรม เป็นเรื่องหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ ดังที่ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายความว่า :-
ดูกรภิกษุทั้งหลายอีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติกำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยากด้วยจักษุญาณอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฎฐิเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฎฐิ ยึดถือการ กระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฎฐิเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์
กรรมเป็นต้นเหตุของความเป็นไปต่าง ๆ ในชีวิต ผลของกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมจะบังเกิดขึ้นด้วยความจงใจในการกระทำ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จัดให้ไปเกิดใหม่เท่านั้น แต่ยังจัดสรร ให้ไปเกิดในขอบเขตของกรรมอีกด้วย ภพและสภาวะที่จะไปเกิดนั้น ขึ้นอยู่กับการกระทำของผู้นั้นในภพก่อน ๆ
ดูกรภิกษุทั้งหลายเรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริอย่างนี้ว่า พ่อเจ้า ประคุณเอ๋ย เป็นอันว่าเหล่าสัตว์ที่ทำกรรมอันลามกไว้ในโลก ย่อมถูกนายนิรยบาล ลงกรรมกรณ์ต่างชนิดเห็นปานนี้ โอหนอ ขอเราพึงได้ความเป็นมนุษย์ ขอพระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พึงเสด็จอุบัติในโลก เราพึงได้นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระพระภาคพระองค์นั้น พึงแสดงธรรมแก่เรา และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด
หลักกรรมในพุทธศาสนา เน้นเรื่องของปัจจุบัน ให้พิจารณาความดีความชั่วของตนเพื่อชี้สิ่งที่จะต้องกระทำ หรือการกระทำในปัจจุบัน ไม่ให้หวนกลับไปถึงเรื่องอดีตที่ผ่านมา และเพ้อฝันถึงเรื่องในอนาคต พุทธปรัชญาชี้ให้ใช้ปัญญาพิจารณาดูที่ปัจจุบันเป็นเครื่องกำหนด บุคคลประเภทต่างๆ บุคคลจะเป็นอย่างไร ก็ด้วยการกระทำในปัจจุบัน ชาติกำเนิดไม่อาจจะทำบุคคลให้ดี หรือชั่ว ดังพุทธดำรัสที่ปรากฏใน วาเสฏฐสูตร ว่า
ที่บุคคลแตกต่างกัน ก็เพราะแต่ละคนมีความปรารถนามีการสั่งสมกรรมไม่เหมือนกัน กรรมที่บุคคลสั่งสมไว้นั้นเอง เป็นตัวจำแนกบุคคลให้เป็นต่าง ๆ ตามชนิดแห่งกรรมที่บุคคลนั้น ๆ ได้กระทำลงไป ดังพุทธดำรัสที่ตรัสตอบปัญหาของ สุภมาณพ โตเทยบุตรว่า :- " ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลว และประณีตได้" แต่ผลของกรรมก็มีขอบเขตสิ้นสุด มีกำหนดระยะเวลาของกรรมแต่ละอย่าง พุทธปรัชญาเน้นให้บุคคลคำนึงถึงสิ่งที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน หลักกรรมในพุทธปรัชญาเชื่อว่ามนุษย์จะเกิดเป็นเทวดาเป็นพรหม หรือกลับมาเป็นสัตว์เดียรฉานชนิดต่าง ๆ ก็ได้ ในทางกลับกันสัตว์เดียรฉาน ก็สามารถกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหมได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการกระทำในปัจจุบัน
ชีวิตมนุษย์ตามนัยแห่ง กิเลส กรรม วิบาก
การเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่าง ๆ นั้น พระพุทธองค์ตรัสไว้ในสมชีวสูตรซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งว่าชีวิตนี้มีการเชื่อมโยงติดต่อกันไปเรื่อยๆ หรือบางภพชาติที่บุคคลต่าง ๆ จะมีความปรารถนาจะได้พบกันซึ่งมีปรากฏเป็นหลักฐานที่ทำให้ภรรยาและสามีได้พบกันในภพนี้และภพหน้าสามารถอยู่ร่วมกัน ดังความว่า
ภรรยาและสามีทั้งสอง เป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอมีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม เจรจาคำที่น่ารักแก่กันและกันย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุก ทั้งสองฝ่ายมีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ทั้งสอง เป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกันย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์เพลิดเพลินบันเทิงใจในเทวโลก
พุทธปรัชญาเถรวาทมีทรรศนะว่า สัตว์โลกทั้งหลายที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมตกอยู่ในกระแสของการเวียนว่ายตายเกิด ชีวิตเป็นประดุจสายโซ่อันยืดยาว ตามหลักของปฏิจจสมุปบาทที่อาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นเป็นสายติดต่อกันไปจากปัจจุบันชาติ โยงใยถึงอดีตชาติ ต่อไปถึงชาติหน้าด้วย คนเราเกิดตายมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ตราบใดที่กิเลสยังไม่หมดไปจากขันธสันดาน ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด ดังพุทธดำรัสแก่ภิกษุความว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้ กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ
พุทธดำรัสนี้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนได้เคยเกิดเคยตายมาแล้วทั้งนั้นไม่สามารถจะกำหนดนับได้ ถ้าหากจะเอากระดูกของคนเพียงคนเดียวที่เคยตายมาแล้วในอดีตชาติ มารวมกองไว้ กระดูกของคนนั้นจะกองโตกว่าภูเขาเสียอีก การเวียนว่ายตายเกิด อาศัยปัจจัยเป็นเหตุผลติดต่อกันเป็นสายเรื่อยไปไม่สิ้นสุด แต่ละชีวิตเป็นผลมาจาก กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่ทุกชีวิตจะปัดภาระในการรับผลของกรรมในอดีต และปัจจุบันกรรมไม่ได้ จนกว่าจะสามารถทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตใจได้ ตัวการที่เป็นสาเหตุสำคัญของการติดข้องอยู่ในสงสารนี้คือ ตัณหา ความทะยานอยาก ตราบใดที่ยังตกอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา ชีวิตก็ยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิดโดยไม่มีที่สิ้นสุด ตัณหาเกิดจากอวิชชา คือความไม่รู้แจ้งสภาวธรรมตามความเป็นจริง เพราะหลงยึดมั่นสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ด้วยอำนาจของอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น กล่าวโดยสรุป หลักการเวียนว่ายตายเกิดในพุทธศาสนา มีเหตุปัจจัยมาจาก กิเลส กล่าวคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นเหตุให้กระทำกรรม กรรม เมื่อกระทำแล้วย่อมเกิดผลหรือวิบาก ผลหรือวิบาก คือ นามรูปที่ยังประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นกิเลส เป็นเหตุให้กระทำกรรม เมื่อกระทำกรรมก็ย่อมเกิดผล เป็นนามรูปใหม่ ติดต่อกันไปไม่รู้จักสิ้นสุด จึงได้ชื่อว่าสังสารวัฏ พุทธศาสนาเถรวาท เชื่อในเรื่องสังสารวัฏ และการสืบต่อระหว่างคนเราเคยเกิดมาแล้วทั้งสิ้น นับชาติไม่ถ้วน เกิดในภพภูมิที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามกฎแห่งกรรมที่ได้กระทำไว้ทั้งดีและชั่ว ถ้ายังมีกิเลสอยู่เปรียบเหมือนยางเหนียวในพืชมีอยู่ตราบใด ก็ต้องเวียนว่าย ตายเกิดอยู่ตราบนั้น จิตที่ได้รับการอบรมแล้ว ถ้ายังไม่สิ้นกิเลส ก็ย่อมนำไปเกิด ในภพภูมิที่ประณีต มีความสุขประเสริฐ และสูงขึ้น แต่ถ้าจิตไม่ได้รับการฝึกอบรม ปล่อยไว้ตามสภาพที่มันเป็น ปล่อยให้สกปรกเศร้าหมอง เพราะถูกกิเลสจับ นอกจากจะก่อความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง และสังคมในชาตินี้แล้ว ยังจะให้ภพชาติต่ำทรามลงไป ต้องประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อนมากในชาติต่อ ๆ ไปอีกด้วย
พุทธศาสนาเถรวาทสอนว่า การตายไม่ใช่ความสิ้นสุดแห่งชีวิต หากเป็นเพียงการสลายนามรูปอย่างหนึ่ง วิบากของกรรมที่ยังเหลืออยู่ก็จะก่อให้เกิดนามรูปขึ้นใหม่อีก นามรูปที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น ย่อมรับเศษแห่งวิบากที่ยังเหลืออยู่ติดมาด้วย และยังได้สั่งสมกรรมใหม่ขึ้นอีกเรื่อย ๆ ซึ่งผลของการกระทำนั้น ๆ ก็จะปรากฏในชีวิตปัจจุบัน และอนาคตต่อไปอีกด้วย เกิดเป็นนามรูปใหม่เรื่อยๆไม่ขาดสาย จนกว่าจะตัดกระแสแห่งวิบากกรรมคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เสียได้ ก็จะบรรลุอมตธรรม กล่าวคือพระนิพาน เป็นที่สิ้นสุดแห่งทุกข์เบียดเบียน ให้ปฏิบัติในสิ่งที่จะเอื้อประโยชน์ต่อทุกสรรพชีวิต เสมือนหนึ่งเป็นญาติกัน
บ่อเกิดของชีวิตมนุษย์
การที่พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงพัฒนาการของทารกที่อยู่ในครรภ์อย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่เป็น Germ Cell เป็นต้นมา จึงเป็นตัวทารกอย่างสมบูรณ์ นี้ก่อให้เกิดความทึ่งและความประหลาดใจให้แก่วงการแพทย์ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อสมัย ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วนั้นไม่มีเครื่องมือทันสมัย เช่น กล้องจุลทัศน์ หรือเครื่องเอกซเรย์อันใดเลย แต่พระพุทธองค์ก็ทรงหยั่งทราบได้ชัดเจน เหมือนกับมีเครื่องมือเหล่านี้ และยังทรงรู้ซึ่งไปกว่านี้อีกมาก ข้อนี้เกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์โดยแท้ อันไม่ใช่วิสัยที่ใครอื่นจะพึงรู้ได้ด้วยตนเอง
สำหรับปัญหาที่ว่ามนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือ อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้กายเกิดขึ้นนั้น จะพบว่าในพุทธศาสนาเถรวาทได้กล่าวไว้ถึงจุดกำเนิดของมนุษย์ไว้หลายแห่ง ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์มีร่างกายเกิดขึ้นดังมีกล่าวไว้ในเสลาสูตร ได้กล่าวแสดงถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เกิดขึ้นมาได้อย่างกว้าง ๆ ว่า กายนี้ไม่มีใครสร้างไม่มีใครก่อขึ้นมา แต่กายนี้ก็เป็นสิ่งที่มีใช่ไม่มีเหตุ มีเกิดขึ้นเพราะเหตุมี และดับไปเพราะมีเหตุดับ เหตุของมันนั้นมิใช่เป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยภายนอก
จากพุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นชีวิตมนุษย์นั้นยืดยาวออกไปอีกตามอำนาจแห่งกรรมที่ตนเองทำเอาไว้ เว้นไว้แต่พระอรหันต์ผู้ที่หมดกิเลสแล้วย่อมไม่เกิดอีก ส่วนสัตว์ผู้ยังมีกิเลสอยู่ย่อมมีเหตุนำไปสู่การเกิดอีก ซึ่งจะวนเวียนกันอยู่ในภูมิ ๓๑ ภูมิ ดังที่กล่าวแล้วนั้น และในการถือกำเนิดก็ย่อมเกิดในกำเนิด ๔ คือ
๑. ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ได้แก่กำเนิดของมนุษย์และสัตว์ที่คลอดออกมาเป็นตัว
๒. อัณฑชะ เกิดในไข่ ได้แก่กำเนิดสัตว์เดรัจฉานแล้วมีการฟักออกมาเป็นตัว
๓. สังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล ได้แก่สัตว์จำพวกที่เกิดในสิ่งปฏิกูลเช่นหนอนต่าง ๆ
๔. โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้น ได้แก่กำเนิดเทวดาและสัตว์นรก
มนุษย์ตามทรรศนะของพุทธศาสนานั้นอาจตอบได้ทั้งในแง่ของความจริงขั้นสมมุติหรือสมมติสัจจะและทั้งในขั้นปรมัตถ์หรือปรมัตถ์สัจจะในแง่ความจริงขั้นสมมตินั้น อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์เป็นเป็นหลายๆอย่าง ซึ่งจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ สูง ต่ำ ดำหรือขาว นั้นเป็นเพียงขั้นที่สมมติบัญญัติเรียกกันเท่านั้นเพื่อง่ายในการเข้าใจกันในภาษามนุษย์ ส่วนในขั้นปรมัตถ์นั้นพุทธศาสนา กล่าวว่าเป็นเพียงกระบวนการแห่งธรรมล้วน ๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาได้ด้วยอาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีใครสร้างขึ้นหรือเกิดขึ้นเพราะการดลบรรดาลของผู้ใดทั้งสิ้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเราหรือเขาแต่อย่างใด ดังนั้นพระพุทธศาสนาเถรวาทได้กล่าวถึงมนุษย์ตามที่เป็นอยู่จริงในแง่ของปรมัตถ์ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นขั้นตอนสมมติสัจจะว่า มันถูกเปิดบังด้วยอวิชชา ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าไม่ควรติดอยู่กับหลักการว่ามนุษย์ขั้นสมมติหรือขั้นปรมัตถ์
เมื่อกล่าวโดยลักษณะแล้วพุทธศาสนายอมรับว่ามนุษย์แยกออกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ๆ ได้ ๒ ส่วน คือกายส่วนหนึ่งและจิตอีกส่วนหนึ่ง แต่ยังมีในที่หลายแห่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่ามนุษย์นั้นมีส่วนประกอบ ๆ กันหลายอย่าง ซึ่งเป็นการแยกส่วนต่าง ๆ ของมนุษย์ออกเป็นส่วนย่อยหรือแยกออกเป็นแบบพหุนิยมซึ่งสามารถแยกย่อยออกไปได้หลายอย่าง ซึ่งพุทธศาสนาเถรวาทได้กล่าวถึงมนุษย์ว่ามีส่วนประกอบที่สามารถย่อยทอนให้เล็กลงไปได้ถึง ๕ ประการซึ่งเรียกวิธีการทางธรรมนี้ว่า มนุษย์ตามแบบของเบญจขันธ์ ซึ่งสามารถแยกได้ดังนี้
๑. รูปขันธ์ ได้แก่สิ่งที่เป็นส่วนของรูปทั้งหมด อาทิเช่น ร่างกาย หรือสิ่งที่สสารและพลังงานในร่างกายพร้อมทั้งคุณสมบัติและพฤติกรรมของมันด้วย
๒. เวทนาขันธ์ ได้แก่ความรู้ลึกทางอารมณ์ว่าเป็นสุข คือความสบายกายสบายใจเรียกว่าสุขเวทนาหรือเป็นทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ เรียกว่าทุกขเวทนา หรือเฉยๆต่ออารมณ์ต่างๆซึ่งไม่สุขไม่ทุกข์เรียกว่า อัพยากตเวทนา
๓. สัญญาขันธ์ ได้แก่ความจำได้หมายรู้ เป็นการกำหนดรู้เครื่องหมายหรือ
ลักษณะการต่าง ๆ เช่นจำได้หมายรู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ที่เกิดกับใจ
๔. สังขารขันธ์ ได้แก่เจตสิกธรรมอันเป็นอารมณ์ที่เกิดกับจิต ซึ่งมีเจตนาเป็นตัวนำ แต่งจิตให้ดีให้ชั่วหรือเป็นกลาง ๆ ถ้าแต่งจิตให้ดีเรียกว่ากุศลสังขาร ถ้าแต่งจิตให้ชั่วเรียกว่าอกุศลสังขาร ถ้าเป็นกลาง ๆไม่ดีไม่ชั่วเรียกว่าอัพยากตสังขาร
๕. วิญญาณขันธ์ ได้แก่ความรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ เป็นตัวรู้ที่อาศัยอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกมาประจวบกันเข้าแล้วทำให้เกิดวิญญาณหรือความรู้ขึ้น
สรุป
การดำชีวิตของมนุษย์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และต่อไปสู่อนาคตนั้น ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าประโยชน์และความสุขคือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ซึ่งมีบทบาทที่ผลักดันจิตส่วนลึกของมนุษย์อยู่ เพราะมนุษย์มีความเห็นแก่ตัว คิดและทำเพื่อตนเอง เพื่อหมู่คณะของตนซึ่งเป็นศูนย์รวมของปัญหาต่าง ๆ แต่ในแนวตรงกันข้ามก็เป็นผลดีสำหรับชีวิตที่จะพบกับความสุขของชีวิตเช่นเดียวกัน เพราะสุขหรือทุกข์เกิดมาจากสิ่งที่อยู่ภายในตัวมนุษย์นั้นเอง คือ จิต ซึงมีสภาพที่รับรู้อารมณ์ที่เสพแล้วเป็นทุกข์เพราะอวิชชาเป็นสิ่งปิดบังความจริงเอาไว้
ธรรมชาติที่แท้ของชีวิตหรือกายจิต เป็นอยู่อย่างนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใครจะคิดเอาเอง มันมีอยู่อย่างนั้น คนจะคิดหรือไม่คิด จะรู้ไม่รู้ มันก็มีอยู่อย่างนั้น เป็นการเปิดเผยหรือนำเอาความจริงมาบอกให้รู้มิได้กล่าวให้มากหรือทำให้น้อยไปจากความจริงเลย สภาวะของทันเป็นอยู่อย่างนั้นก็กล่าวอย่างนั้น ก็กล่าวอย่างนั้นไม่ใช่ว่าจะขึ้นอยู่กับชอบหรือไม่ชอบแต่มันเป็นสัจธรรม เป็นการสอนให้รู้ถึงธรรมชาติของชีวิตหรือกายและจิตตามความเป็นจริง มิได้สอนให้มองชีวิตหรือกายจิตในแง่ของความชั่วร้าย ความทุกข์ทรมาน หรือดูหมิ่นเหยียดหยามชีวิตไม่ได้สอนให้คนเศร้าหมดความหวัง เจ้าทุกข์หรือจับเจ่ากับความทุกข์หรือแบกทุกข์เอาไว้ และอาศัยจุดนี้ นำไปสู่การแก้ปัญหานั้น
นอกจากนี้แล้ว ที่ปฏิเสธความเห็นดังกล่าว ก็เพราะความเข้าใจดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎธรรมดาของเหตุปัจจัย ทั้งนี้เพราะพุทธปรัชญาถือว่า เหตุปัจจัยหรือสาเหตุของทุกข์นั้นเป็นกฎธรรมดาที่อยู่ในตัวคนหรือที่ตนเอง เช่นเดียวกับกฎธรรมดาของชีวิตแง่อื่น ๆ และเหตุปัจจัยของทุกข์นั้นก็คือกรรมที่ตนกระทำขึ้นมาเองโดยทางการกระทำทางกาย การพูด และการคิดที่ดีหรือชั่วได้ประกอบแล้ว และกำลังประกอบอยู่ในปัจจุบัน จนกลายเป็นการสั่งสมไว้เป็นลักษณะนิสัยผูกพันอยู่ในขันธสันดาน
นางสาวกรกนก ศรีสุวรรณ
ศาสนศาตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
โทร. 083315-5686, E-mail. This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เอกสารอ้างอิง
พระมหาสม สุมโน,ดร. การศึกษาเปรียบเทียบทรรศนะคุณค่าชีวิตของมนุษย์ในลัทธิฮินดูและในพุทธศาสนา, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์นีลนาราการพิมพ์, ๒๕๓๗ ) หน้า ๑๑๗–๑๑๙.
วศิน อินทสระ, พุทธปรัชญาเถรวาท, (กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์เจริญกิจ, ๒๕๑๙) หน้า ๓๗๙.